ป. พิบูลสงคราม “จอมพลตราไก่” ตอน 5 (จบ)

ป. พิบูลสงคราม “จอมพลตราไก่” ตอน 5 (จบ)

por5

เด็กๆ ให้ความสนใจรูปปั้นหุ่นขี้ผึ้ง จอมพล ป.พิบูลสงคราม ภายในพิพิธภัณฑ์มาดามทุสโซ ศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี่ กรุงเทพฯ ปัจจุบันความทรงจำเกี่ยวกับ จอมพล ป.ยังอยู่แต่ส่วนมากจะมีมิติของ “ผู้นำที่เด็ดขาด” เป็นจุดเน้นมากกว่าเรื่องอื่น

จอมพล ป. ยังไม่ตาย

๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๗–หลังวิกฤตการเมืองยืดเยื้อยาวนานกว่า ๖ เดือน พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ก็ประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศ

ผมมาเยี่ยม “พระเจดีย์ศรีมหาธาตุ-วัดประชาธิปไตย” (วัดพระศรีมหาธาตุ) กรุงเทพฯ

ด้านในเจดีย์ ช่องเก็บอัฐิบุคคลสำคัญของ “คณะราษฎร” เรียงรายบนกำแพงซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเจดีย์ชั้นนอกที่ครอบเจดีย์องค์เล็กซึ่งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้

ภาพจอมพล ป. ถูกใครสักคนวางไว้ที่ประตูทางเข้าฝั่งทิศตะวันออกพร้อมประวัติย่อ กลางกำแพงฝั่งนั้น แผ่นหินอ่อนปิดที่บรรจุอัฐิจารึกชื่อ “จอมพล ป. พิบูลสงคราม…ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม”

๑๘.๐๐ น. เพลงชาติดังแว่วมาไกล ๆ “ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย…”  ผู้คนแต่งกายแบบสากลที่เดินไปเดินมาด้านนอกหยุดยืนตรงอัตโนมัติ

ไม่ไกลจากวัดพระศรีมหาธาตุที่ผมอยู่ “อนุสาวรีย์ปราบกบฏ/พิทักษ์รัฐธรรมนูญ” ซึ่งภายหลังถูกเปลี่ยนเป็น “อนุสาวรีย์หลักสี่” ยังยืนตระหง่าน แม้จะมีการสร้างถนนและทางยกระดับลอดผ่านจนไม่โดดเด่นเช่นอดีต

สิ่งที่จอมพล ป. สร้างยังกระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศ ในกรุงเทพฯ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยยังเป็นสถานที่ชุมนุมทางการเมืองบ่อยครั้ง อาคารริมถนนราชดำเนินยังโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเป็นพื้นที่สำคัญใจกลางกรุงเทพฯ จังหวัดลพบุรีได้รับการขนานนามว่าเมืองทหาร

ทุกวันนี้เด็กไทยไม่รู้จัก “หมากพลู” แล้ว แต่ในโรงเรียนพวกเขายังต้องเรียน “รำวงมาตรฐาน”  คนเพชรบูรณ์ยังจำได้ว่าครั้งหนึ่งพวกเขาเกือบเป็นคนเมืองหลวง  ทหารส่วนใหญ่ยังจำจอมพล ป. ได้ในฐานะผู้นำกองทัพที่เข้มแข็ง

ระยะหลังเริ่มมีนักวิชาการกลับมาศึกษาจอมพล ป. อีกครั้ง ล่าสุดเพลงปลุกใจยุคจอมพล ป. ยังถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำมาเปิดในการทำรัฐประหารวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗

ที่สำคัญเรายังเรียกประเทศนี้ว่า “ประเทศไทย” (Thailand)

เราจะสรุปงานแห่งชีวิตของจอมพล ป. อย่างไร

บทสรุปที่ดีที่สุดอาจเป็นข้อความในจดหมายฉบับหนึ่งที่จอมพล ป. เขียนหลังถูกรัฐประหารในปี ๒๕๐๐ ถึงปรีดีเพื่อนรักซึ่งร่วมก่อการ ๒๔๗๕ มาด้วยกันว่า

“ผมไม่เคยร่ำเรียนมาทางเศรษฐกิจดอก แต่ผมก็มีหลักการที่ได้มาจากการร่ำเรียนทางวิชาทหาร รักชาติ รักประชาชนนั้น ประการหนึ่ง ซื่อสัตย์ต่อบ้านเมืองเป็นอีกประการหนึ่ง ผสมกับประสบการณ์และเสียงประชาชน คุณสังเกตประชาธิปไตยในช่วงสุดท้ายของผมหรือเปล่า เสรีภาพในการพูด อย่างเช่นที่พวกนักไฮด์ปาร์กเขาทำกันที่สนามหลวงหรือข้างทำเนียบ เคยมีปรากฏมาก่อนบ้างไหม…ผมถูกสฤษดิ์เขาทำรัฐประหารเพราะเหตุอะไร ผู้สันทัดกรณีก็ย่อมรู้

“การเมืองมันลึกลับซับซ้อนแค่ไหน การที่คณะราษฎรทำการปฏิวัติ นำประชาธิปไตยมาสู่ประชาชนนั้น แม้จะเป็นความสำเร็จก็ตาม แต่เราต้องยอมรับว่าคณะเราส่วนใหญ่ยังมีฐานะเป็นไก่อ่อนสอนหัดอยู่ เราจึงถูกมรสุมซัดเอาถึงขั้นแพแตก คณะราษฎรจึงถูกแบ่งแยกออกเป็นฝักฝ่าย ผู้ที่พอจะถือได้ว่าเจนจัดหน่อยก็มีท่านอาจารย์นี้แหละ เพราะแนวที่ท่านร่ำเรียนศึกษาได้ปูลาดไว้ ผมเองก็เรียนมาทางทหาร สมาชิกส่วนอื่นก็มาจากเงื่อนไขทางสังคมที่แตกต่างกัน เราร่วมงานกันได้ก็เพราะความรักระหว่างเพื่อนฝูงโดยแท้  มันอาจเป็นทฤษฎีแปลกใหม่ไม่ซ้ำแบบใคร แต่คณะเราก็ได้ปฏิวัติจนเป็นผลสำเร็จ  ผมจะต้องกลับกรุงเทพฯ เร็ว ๆ นี้แหละ ผมจะไปสานต่อประชาธิปไตย และงานที่ทำค้างอยู่  ไม่ว่าจะมีอุปสรรคแค่ไหน ผมจะให้คุณดูด้วยตาว่า ถ้าผมกลับกรุงเทพฯ เขาจะกล้าจับผมไปขังไหม หรือว่าจะตั้งแถวรับยาวเหยียด”

จอมพล ป. ผู้อภิวัฒน์ ต้นตำรับรัฐประหาร ผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ผู้เผด็จการ ท่านผู้นำ นักฉวยโอกาส…

ไม่ว่าจะนิยามอย่างไร ใช่หรือไม่ว่า

“จอมพล ป.” ยังอยู่กับคนไทยตลอดมา

ล้อมกรอบ
“หลายคนแกล้งลืมและบอกจอมพล ป. ไม่ดี ทั้งที่ท่านพาชาติผ่านวิกฤตมาได้”
จีรวัสส์ ปันยารชุน (พิบูลสงคราม)
อายุ ๙๓ ปี - บุตรีคนที่ ๓ ของจอมพล ป.

“ถ้าไม่ร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครอง คุณพ่ออาจเป็นพระยา คุณแม่อาจเป็นคุณหญิง  ท่านโดนยิง วางยาพิษ  ฝ่ายตรงข้ามมองว่าจอมพล ป. มีกำลังต้องกำจัด  ดิฉันมองว่าท่านตัดสินใจถูกที่ยอมให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ทหารญี่ปุ่นที่บุกกำลังสดชื่น เชอร์ชิลล์ (นายกฯ อังกฤษ) ส่งโทรเลขบอกป้องกันตัวเอง แต่ไทยจะเอาอะไรไปสู้  นายทหารหลายท่านรู้ว่าคุณพ่อทำถูกเลยสร้างอนุสาวรีย์ให้ หลายคนแกล้งลืมเรื่องนี้ บอกว่าจอมพล ป. ไม่ดี ทั้งที่ท่านพาชาติผ่านวิกฤตมาได้

“ที่ว่าจอมพล ป. เป็นเผด็จการ ต้องอธิบายว่าระหว่างสงครามต้องเด็ดขาด ไม่งั้นข้าศึกรู้หมด  คุณพ่อไม่สบายญี่ปุ่นยังทราบ  นโยบายหลายอย่างคือการต่อสู้ทางวัฒนธรรมกับญี่ปุ่น สมัยนั้นบอกไม่ได้  ยุคหลังถูกมองเป็นเรื่องตลกขบขัน ตอนนี้ให้ใส่โจงกระเบน กินหมาก ดิฉันก็เชื่อว่าก็ไม่มีใครเอา
ทุกคนใส่กระโปรง ทาลิปสติกกันหมดแล้ว

“พอเกิดรัฐประหาร ๒๔๙๐ คุณพ่อไม่เห็นด้วยและห่วงความปลอดภัยของลูกเลยต้องรับ  ตอนนั้นมีฝ่ายต่อต้านรัฐประหาร แต่พอรู้ว่าคุณพ่อรับเป็นหัวหน้าก็เลยหยุด  ดิฉันอยากให้มองเรื่องใหญ่ที่ท่านวางไว้มากกว่า พอถึงปี ๒๕๐๐ เขาก็ใช้จอมพลสฤษดิ์ทำลายจอมพล ป. คุณพ่อกับท่านปรีดีมีปัญหาเพราะลูกศิษย์  ช่วงบั้นปลายชีวิตทั้งคู่พยายามนัดเจอกัน แต่คุณพ่อจากไปเสียก่อน  ดิฉันเคยไปหาท่านปรีดีที่ปารีส พอเจอท่านเราร้องไห้ ท่านปรีดีกอดเรา เลี้ยงน้ำชา แล้วเล่าเรื่องเก่าให้ฟัง ดีใจที่คนนับถือท่านปรีดี แม้จะไม่พูดถึงจอมพล ป. แต่เราไม่เคยเสียใจและภูมิใจในตัวท่าน ดิฉันเป็นลูกจอมพล ป. เดินได้อย่างสง่า

“คุณพ่อเป็นแกนหลักอีกคนหนึ่งในการอภิวัฒน์ ๒๔๗๕ เวลานี้คนพูดถึงท่านมากขึ้น  ทั้งจอมพล ป. และท่านปรีดี ทำงานไม่คิดถึงตัวเอง ถ้าท่านคิดถึงตัวเองบ้าง ลูก ๆ คงสบายกว่านี้  คนไทยสมัยนี้ลืม ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ แล้ว  สมัยก่อนคนมีความรู้พอใจการอภิวัฒน์ แต่บัดนี้ไม่ใช่ ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นอีก ดิฉันอยากเห็นความเปลี่ยนแปลง แต่คงไม่มีโอกาสเพราะอายุมาก  ชาติอยู่ในมือคนไทยรุ่นหลังแล้ว ดิฉันฝากด้วย”

“จอมพล ป. มีสถานะที่ ‘แปลก’ สมชื่อคือ ‘เป็นประชาธิปไตยก็ไม่ใช่’-‘เป็นเผด็จการก็ไม่เชิง’ ”

ศ. (พิเศษ) ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
นักประวัติศาสตร์

“จอมพล ป. มีสถานะที่ ‘แปลก’ สมชื่อ ‘เป็นประชาธิปไตยก็ไม่ใช่ ‘เป็นเผด็จการก็ไม่เชิง’ หรือ ‘ไม่เป็นประชาธิปไตยก็ไม่ใช่’ และก็ ‘ไม่เป็นเผด็จการก็ไม่เชิง’ ขึ้นกับมองจากมุมไหน  มองจากมุมอนุรักษนิยมหรืออำนาจเก่า /บารมีเก่า แบบ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ และ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ก็จะได้แต่ภาพเผด็จการ ประเภทบังคับเรื่องไม่ให้กินหมาก ไม่ให้นุ่งโจงกระเบน

“การตัดสินใจเข้ากับญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นความจำเป็น เป็นทั้งบริบทของยุคสมัย ที่โอนเอียงไปทางญี่ปุ่นเพื่อขจัดอำนาจฝรั่งเจ้าอาณานิคมในอุษาคเนย์  ทั้งซูการ์โน บิดาเอกราชอินโดนีเซีย นายพลอองซาน บิดาเอกราชพม่า ก็เข้ากับญี่ปุ่น ยกเว้นฝ่ายคอมมิวนิสต์ อย่างโฮจิมินห์ จีน (คณะชาติ) หรือจีนสิงคโปร์  ปลายสงคราม จอมพล ป. ต้องการ ‘พลิก’ บทบาทแบบอองซานและซูการ์โน แต่สายไปแล้ว เนื่องจากมีเสรีไทยภายใต้การนำของ ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ ภายในประเทศ ร่วมกับภายนอกภายใต้การนำของเสรีไทย ‘ฝ่ายเจ้า’ ในอังกฤษ กับ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ในสหรัฐฯ

“หลังรัฐประหาร ๒๔๙๐ แม้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีก แต่อำนาจคุมกองทัพก็หลุดไปอยู่กับจอมพล ผิน ชุณหะวัณ แม้พยายามรักษา ‘กลิ่นอายคณะราษฎร’ ไว้บ้าง แต่อำนาจก็อยู่กับคณะรัฐประหาร  จอมพล ป. กลายเป็นหัวโขน  เมื่อพยายามเล่นเกมประชาธิปไตย ให้มีเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๐๐ ก็น่าจะหมดน้ำยาแล้ว การเลือกตั้งจึงกลายเป็น ‘สกปรก’ ที่สุด เปิดโอกาสให้จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และฝ่ายเจ้ากลับมา

“ทั้ง ป. และปรีดีมีความสัมพันธ์ ‘ทั้งรักทั้งชัง’ คือร่วมงานกันอย่างดี ตั้งแต่ ๒๔๗๕ ถึงสงครามโลกครั้งที่ ๒ มีอุดมการณ์ประชาธิปไตยร่วมกัน แต่แตกเพราะ ก. สงครามโลกครั้งที่ ๒ และ ข. กรณีสวรรคตรัชกาลที่ ๘  สงครามโลกครั้งที่ ๒ ทำให้ ‘เลือกข้าง’ ว่าจะอยู่ฝ่ายอักษะ/ฟาสซิสต์ หรือสัมพันธมิตร/ประชาธิปไตย  จอมพล ป. เลือกฝ่ายอักษะ/ฟาสซิสต์  ท่านปรีดีเลือกสัมพันธมิตร/ประชาธิปไตย  แต่สองผู้นำก็ยังไม่หักสะบั้น แต่กรณีสวรรคตทำให้ทั้งสองแตกกันขาด  จอมพล ป. อาศัย หรือปล่อยให้ฝ่ายทหารของผินกับฝ่ายเจ้าของกรมขุนชัยนาทฯ และสอง ม.ร.ว. ปราโมช ทำลายท่านปรีดี แล้ว ‘ส้มหล่น’ เป็นนายกฯ อีกระหว่าง ๒๔๙๑-๒๕๐๐  หัวเลี้ยวหัวต่อตรงนี้ที่ทั้งสองแยกทางชัดเจน

“ถามว่าสองท่านขัดแย้งกันเป็นความผิดพลาดของคณะราษฎรหรือไม่ ผมไม่อยากโทษคณะราษฎรว่าไม่ทำอะไรให้ ‘สุด ๆ’  คิดแบบนี้มันง่าย เผลอ ๆ เป็นการปัดความรับผิดชอบของคนรุ่นเรา ๆ ท่าน ๆ  คล้ายกับ แหม ถ้าท่านทำมาดีแล้ว เราก็ไม่ต้องเหนื่อยหรือรับกรรมอยู่อย่างนี้

“การที่สังคมไทยเริ่มให้ความสนใจจอมพล ป. อีกครั้ง เป็นปรากฏการณ์น่าสนใจ เป็นการมองประวัติศาสตร์ที่ลุ่มลึกกว่าเดิม  ไม่มองเผิน ๆ ว่านั่นเป็น ‘เผด็จการ’ นี่เป็น ‘ประชาธิปไตย’  ยุคนี้เราต้องการการศึกษาว่าด้วยผู้นำแบบจอมพล ป. ท่านปรีดี ตลอดจนผู้นำรูปแบบอื่นที่กว้างขวางลุ่มลึก เป็นสามัญชนที่ออกนอกวงของผู้ดี เจ้า อำมาตย์ครับ”

“จอมพล ป. เป็นทหารปัญญาชน”

พ.อ. ดร. สรศักดิ์ งามขจรกุลกิจ
อาจารย์ประจำกองวิชาประวัติศาสตร์
โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (จปร.) จังหวัดนครนายก
ผู้ทำวิจัยเรื่อง ตำนานใหม่ของขบวนการเสรีไทย : เรื่องราวการต่อสู้เพื่อเอกราช สันติภาพ และประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

“ช่วงสงครามโลก คนมักมองว่าจอมพล ป. ตัดสินใจผิด ผมเคยสัมภาษณ์ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช เสรีไทยสายสหรัฐอเมริกา  ท่านบอกที่ให้เดินทัพผ่านทำถูก เพราะรักษาเมืองและชีวิตคนไทยไว้  เสรีไทยในประเทศก็เข้าใจเช่นนี้  แต่ที่พวกเขาต้านจอมพล ป. มาจากปัจจัยภายใน คือวิธีเผด็จการ การเข้ากับฝ่ายอักษะ  รายงานสถานทูตญี่ปุ่นในกรุงเทพฯ ที่ส่งกลับโตเกียวซึ่งสหรัฐฯ ดักและแปลออกมาชัดเจนว่าญี่ปุ่นไม่วางใจจอมพล ป.

“ยุทธศาสตร์จอมพล ป. คือทหารต้องไม่โดนปลดอาวุธ ยืดหยุ่นว่าเอกราชไม่จำเป็นต้องรบอย่างเดียว  ที่โฆษณาก่อนเกิดสงครามให้คนไทยรบ ผมมองว่าเพื่อเบรกให้ญี่ปุ่นคิดและพยายามดึงอังกฤษมาช่วย  ในสถานการณ์นั้น ทุกคนทำหน้าที่ ไม่มีฝ่ายไหนคิดว่าจะชนะ

“หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ มีการต่อสู้ของสี่กลุ่ม คือ จอมพล ป. (ทหารบก) ปรีดี (ทหารเรือ) กลุ่ม ส.ส. อีสาน และกลุ่มนิยมเจ้า มีกลุ่มย่อยจับขั้วแยกขั้วตลอดเวลา  รัฐประหาร ๒๔๙๐ เกิดได้เพราะพรรคประชาธิปัตย์แพ้ตั้งแต่ปี ๒๔๘๙ พรรคสหชีพก็คล้ายพรรคเพื่อไทย  ฝ่ายนิยมเจ้าไม่ยอมก็หยิบประเด็นคอร์รัปชัน กรณีสวรรคตมาปลุกพลังอนุรักษนิยมในหมู่ทหาร ประกอบกับพรรคสหชีพตีทหารหนัก อาทิ มีกองทัพมา ๔๐ ปีสู้เสรีไทยที่มี ๒ ปีกู้เอกราชไม่ได้ เป็นต้น  ประเมินผิด จอมพล ป. ก็อายุแค่ ๔๐ ต้น ๆ อยากกลับมาเพื่อบอกว่าไม่เป็นแบบที่เขาต่อว่ากัน

“ที่จอมพล ป. กลับมาได้เพราะบารมีในกลุ่มทหารด้วย แต่บทบาทยุคนี้ต้องรักษาสมดุลอำนาจ แม้ได้รับการยอมรับจากจอมพลผินและสฤษดิ์ แต่ต้องไม่ลืมว่าศัตรูหลัก คือกลุ่มนิยมเจ้ายังต้องการโค่นจอมพล ป.  อีกอย่างจอมพล ป. เป็นทหารปัญญาชน เป็นตัวของตัวเอง ต่างจากทหารยุค ๒๔๙๐ ลงมา  คุมท่านไม่ได้ ถึงจุดหนึ่ง สหรัฐฯ ก็มีตัวเลือกดีกว่าในการต้านคอมมิวนิสต์

“ผมเคยสำรวจนักเรียนนายร้อยเมื่อปี ๕๓ ในบรรดานายทหารเก่า ๆ จอมพล ป. จะเป็นที่รู้จักร่วมกับจอมพลสฤษดิ์และจอมพลถนอม ถือว่าเป็นศิษย์เก่าที่ประสบความสำเร็จ  ในมุมการเมืองจะไม่ค่อยทราบ นี่คือลักษณะการปลูกฝังของทหาร  ส่วนทหารในกองทัพบกยกย่องเพราะท่านเป็นหนึ่งในคนที่ทำให้กองทัพบกใหญ่มาก  เอางบประมาณมาลง ผู้นำพัฒนาองค์กรขนาดนี้จะไม่ให้เขานับถือได้อย่างไร”

 

ที่มา: http://www.sarakadee.com/2015/02/11/por-pibulsongkram/5/

Leave a Reply