ทุ่ม โมง ย่ำ ยาม ตี และไกลปืนเที่ยง

ทุ่ม โมง ย่ำ ยาม ตี และไกลปืนเที่ยง

5409220217

การบอกเวลาของไทยนั้นมี ๒ แบบ คือ แบบทางการ และแบบไม่เป็นทางการ โดยแบบแรกนั้นจะมีหน่วยเป็นนาฬิกา เริ่มตั้งแต่ ๐ นาฬิกาเรื่อยไปจนถึง ๒๔ นาฬิกา ตามหลักสากลที่กำหนดว่า ๑ วันมี ๒๔ ชั่วโมง ส่วนแบบหลังจะมีหน่วยที่ไม่แน่นอน อาทิ โมง ทุ่ม ตี ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าเป็นเวลาช่วงไหนของวัน

เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการบอกเวลาในอดีต เมื่อครั้งนาฬิกายังไม่แพร่หลาย ขณะนั้นจะมีเฉพาะสถานที่สำคัญอย่างศาลาว่าการหรือวัดเท่านั้นที่จะมีนาฬิกาใช้ ฉะนั้นจึงต้องมีการส่งสัญญาณเพื่อบอกเวลาให้คนทั่วไปทราบ จะได้กะประมาณการดำเนินชีวิตในแต่ละวันได้อย่างถูกต้อง การส่งสัญญาณดังกล่าวจะใช้เครื่องมือที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงวัน กลายเป็นที่มาของหน่วยนับเวลาที่ไม่เหมือนกันนั่นเอง

ในตอนกลางวันจะบอกเวลาโดยอาศัยการตีฆ้อง ซึ่งจะให้เสียงดัง “โหม่ง” โดยชั่วโมงแรกของวันตามทัศนะคนไทยคือ ๗ นาฬิกา ( เพราะนับจากเวลาที่ดวงอาทิตย์ขึ้นประมาณ ๖ นาฬิกา ไม่ได้ถือตามฝรั่งที่เอาเวลา ๑ นาฬิกาเป็นชั่วโมงแรกของวัน ) ทางการก็จะตีฆ้อง ๑ ครั้ง กลายเป็น ๑ โหม่ง หรือ ๑ โมงเช้า เวลา ๘ นาฬิกาก็จะตี ๒ ครั้ง เป็น ๒ โมงเช้า เวลา ๙ นาฬิกาก็จะ ๓ ครั้งเป็น ๓ โมงเช้า เรื่อยไปจนถึงเวลา ๑๑ นาฬิกาหรือ ๕ โมงเช้า บางครั้งก็จะเรียกว่า“เวลาเพล” ตามเวลาที่พระฉันเพล ส่วนเวลา ๑๒ นาฬิกาจะเรียกว่า “เที่ยงวัน”

ชั่วโมงแรกหลังจากเที่ยงวันก็จะกลับมาตีฆ้อง ๑ ครั้งอีกที เวลา ๑๓ นาฬิกาจึงเรียกว่า ๑ โมงบ่าย หรือ บ่าย ๑ โมง เวลา ๑๔ นาฬิกาก็จะตี ๒ ครั้ง เป็นบ่าย ๒ โมง เรื่อยไปจนถึงเวลา ๑๖ และ ๑๗ นาฬิกา อาจเรียกว่าบ่าย ๔ โมง บ่าย ๕ โมง (ตามลำดับ) หรือจะเรียกว่า ๔ โมงเย็น ๕ โมงเย็น (ตามลำดับ) ก็ได้ แต่วิธีเรียกอย่างหลังจะเป็นที่นิยมมากกว่าในปัจจุบัน ส่วนเวลา ๑๘ นาฬิกานั้นจะเรียก ๖ โมงเย็นก็ได้ แต่ในอดีตจะใช้คำว่า “ย่ำค่ำ” เพราะเป็นเวลาคาบเกี่ยวระหว่างกลางวันกับกลางคืน พระก็มักตีกลองรัวในเวลานี้ก็อาจเรียกว่า ย่ำกลอง ได้เช่นกัน

คำว่า “ย่ำ” พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ให้ความหมายไว้ว่า “ก. เหยียบหนัก ๆ ซ้ำ ๆ,ถ้าเหยียบในลักษณะเช่นนั้นอยู่กับที่ เรียกว่า ย่ำเท้า, เดินในลักษณะคล้ายคลึงเช่นนั้น; ตีกลอง หรือฆ้องถี่ ๆ หลายครั้งเพื่อบอกเวลาสำหรับเปลี่ยนยาม เรียกว่า ย่ำกลอง ย่ำฆ้อง, ย่ำยาม ก็เรียก, ถ้ากระทำในเวลาเช้า เรียกว่า ย่ำรุ่ง (ราว ๖ นาฬิกา), ถ้าทำในเวลาค่ำ เรียกว่า ย่ำค่ำ (ราว ๑๘ นาฬิกา).”

เวลา ๑๘ นาฬิกานี้ พระมักจะ ย่ำกลอง ย่ำฆ้อง หรือ ย่ำระฆัง เพื่อบอกเวลาสิ้นสุดวันให้ชาวบ้านในชนบทได้รับรู้ ครั้นความเจริญมีมากขึ้นจนทุกบ้านต่างมีนาฬิกาใช้ บทบาทของการย่ำกลองจึงหมดไป

อย่างไรก็ดี เรื่องราวของการบอกเวลาลักษณะนี้ยังมีหลักฐานปรากฏในเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่ด้วย เป็นตอนที่พระอภัยมณีต้องเป่าปี่เพื่อหยุดการปะทะกันระหว่างทหารกองทัพของนางละเวงกับทหารกองทัพของพระอภัยมณีเอง ความว่า

วิเวกหวีดกรีดเสียงสำเนียงสนั่น  คนขยั้นยืนขึงตะลึงหลง

ให้หวิววาบซาบทรวงต่างง่วงงง  ลืมณรงค์รบสู้เงี่ยหูฟัง

พระโหยหวนครวญเพลงวังเวงจิต  ให้คนคิดถึงถิ่นถวิลหวัง

ว่าจากเรือนเหมือนนกมาจากรัง  อยู่ข้างหลังก็จะแลชะแง้คอย

ถึงยามค่ำย่ำฆ้องจะร้องไห้ ร่ำพิไรรัญจวนหวลละห้อย

โอ้ยามดึกดาวเคลื่อนเดือนก็คล้อย  น้ำค้างย้อยเย็นฉ่ำที่อัมพร

สำหรับเวลากลางคืนจะใช้กลองเป็นเครื่องบอกเวลา เมื่อเลยเวลาย่ำค่ำมา ๑ ชั่วโมง (คือเวลา ๑๙ นาฬิกา ) ก็จะตีกลอง ๑ ครั้ง เสียงดัง “ตุ้ม” กลายเป็นเวลา ๑ ทุ่ม เมื่อเลยเวลาย่ำค่ำมา ๒ ชั่วโมง ( ๒๐ นาฬิกา ) ก็จะตีกลอง ๒ ครั้ง เสียงดัง “ตุ้ม ตุ้ม” กลายเป็นเวลา ๒ ทุ่มนั่นเอง และจะเป็นอย่างนี้เรื่อยไปจนถึงเวลา ๒๓ นาฬิกาหรือ ๕ ทุ่ม หลังจากนั้นอีก ๑ ชั่วโมงก็เป็นเวลา “เที่ยงคืน”

หลังเที่ยงคืนไปแล้วจะเปลี่ยนมาตีแผ่นโลหะเพื่อบอกเวลาแทนกลอง เข้าใจว่าเพื่อให้เสียงเบาลง จะได้ไม่รบกวนชาวบ้านที่กำลังหลับพักผ่อน อย่างไรก็ตาม เสียงตีแผ่นโลหะจะมีลักษณะแหลม สามารถบอกเวลาให้กับผู้ที่ยังไม่นอนได้ และก็ไม่เป็นการปลุกคนที่หลับไปแล้วด้วย อนึ่ง เสียงจากการตีแผ่นโลหะนั้นก็ฟังไม่ชัดพอที่จะถอดออกมาเป็นคำได้ การบอกเวลาในช่วงนี้จึงไม่ได้มีหน่วยเป็นเสียงเคาะแบบทุ่มหรือโมงอย่างเวลาช่วงก่อนหน้านี้ คงใช้คำว่า“ตี” นำหน้าจำนวนครั้งที่เคาะแผ่นโลหะ นั่นคือ เวลา ๑ นาฬิกา จะตีแผ่นโลหะ ๑ ครั้ง เรียกว่าเวลาตีหนึ่ง เวลา ๒ นาฬิกาก็จะตี ๒ ครั้ง เรียกว่า ตีสอง เรื่อยไปจนถึงเวลา ๕ นาฬิกา ก็จะเรียกว่าตีห้า

ครั้นเวลา ๖ นาฬิกาก็จะเรียกว่า ย่ำรุ่ง เพื่อให้เข้าคู่กับ ย่ำค่ำ นั่นเอง แต่ในปัจจุบัน คนนิยมเรียกเวลานี้ว่า ๖ โมงเช้ามากกว่า และด้วยเหตุนี้ คนส่วนใหญ่ในปัจจุบันจึงพลอยเรียกเวลา ๗ นาฬิกา ๘ นาฬิกา … ว่า ๗ โมงเช้า ๘ โมงเช้าตามไปด้วย

33

เรื่องของเวลา “ทุ่มโมง” นั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงอธิบายไว้ในหนังสือ “นิทานโบราณคดี” ตอนหนึ่ง ดังนี้

“เมื่อวันแรกไปถึงเมืองพาราณสี         เวลาค่ำฉันนั่งกินอาหารกับพวกที่ไปด้วยกัน

และพวกข้าราชการอังกฤษ ยังไม่ทันแล้วเสร็จ พอเวลายามหนึ่ง (๒๑:๐๐ นาฬิกา)

ได้ยินเสียงตีฆ้องโหม่งทางประตูวังย่ำลา ๑ เช่นเดียวกันกับตีฆ้องตีระฆังย่ำยามใน

เมืองไทย ฉันนึกประหลาดใจ จึงถามข้าราชการอังกฤษที่อยู่ในเมืองนั้นว่า ตีฆ้องย่ำ

เช่นนั้นหมายความว่าอย่างไร เขาตอบว่า “เป็นสัญญาเรียกคนมาเปลี่ยนพวกที่อยู่ยาม”

พอฉันได้ยินอธิบายก็จับใจแทบจะร้องออกมาว่า “อ๋อ”  เพราะวิธีตีฆ้องระฆังยามใน

เมืองไทย เมื่อถึงเวลาเช้า ๖:๐๐ นาฬิกา  เวลาเที่ยงวัน (๑๒:๐๐ นาฬิกา) เวลาค่ำ

(๑๘:๐๐ นาฬิกา) และเวลากลางคืน  ยาม ๑ (๒๑:๐๐ นาฬิกา) เวลาเที่ยงคืน(๒๔:๐๐

นาฬิกา) เวลา ๓ ยาม (๓:๐๐ นาฬิกา) ก็ตีย่ำทำนองเดียวกับได้ยินที่เมืองพาราณสี

แม้คำที่ไทยเราพูด ก็เรียกเวลา ๖ นาฬิกาเช้า ว่า “ย่ำรุ่ง” คำที่พูดว่า “ย่ำ”  คงมาจาก

ย่ำฆ้องระฆังนั่นเอง แต่ฉันยังไม่คิดมาแต่ก่อนว่าเหตุใดจึงตีย่ำ เมื่อได้ฟังอธิบายที่

เมืองพาราณสีก็เข้าใจซึมซาบในทันทีว่า “ย่ำ” เป็นสัญญาเรียกคนเปลี่ยนยาม  เห็นว่า

ประเพณีไทยแต่โบราณ เวลากลางวันให้คนอยู่ยามผลัดละ ๖ ชั่วนาฬิกา  แต่กลางคืน

ผลัดระยะ ๓ นาฬิกา และยังแลเห็นสว่างต่อไปอีก  ด้วยประเพณีตีระฆังยามที่

พระบรมมหาราชวัง กรุงเทพฯ  เมื่อตีย่ำระฆัง แล้วมีคนเป่าแตรงอนและเป่าปี่ตี

มโหรทึกประโคมต่อไปอีกพักหนึ่ง และเวลานี้พระบรมศพหรือพระศพเจ้านายตลอด

จนศพขุนนางผู้ใหญ่บรรดาที่มีกลองชนะประโคม ย่อมประโคมกลองชนะตรงกับ

ย่ำฆ้องระฆังยามทั้งกลางวันและกลางคืน อาการประกอบกันให้เห็นว่า การย่ำฆ้อง

ระฆังเป็นสัญญาเรียกคนมาเปลี่ยนยาม การประโคมเป็นสัญญาบอกว่าพวกอยู่ยามใหม่

ได้เข้ามาประจำหน้าที่พร้อมกันแล้ว  มูลของประเพณีย่ำฆ้องระฆังยามและประโคม

พระศพในเมืองไทย เห็นเป็นดังกล่าวมาและอาจจะได้มาจากอินเดียแต่ดึกดำบรรพ์

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทหารเรือยิงปืนใหญ่ในเวลาเที่ยงวัน เพื่อให้พ่อค้าวาณิชและประชาชนทั้งหลายที่เข้ามาติดต่อค้าขายในกรุงเทพฯ ได้ทราบเวลาเที่ยง และจะได้ตั้งนาฬิกาของตัวให้ตรงกัน

และด้วยพระมหากรุณาธิคุณ ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานให้ทหารเรือ ทำหน้าที่สำคัญของชาติอย่างการเทียบเวลามาตั้งแต่ครั้งนั้น ปัจจุบันกองทัพเรือจึงยังคงทำหน้าที่เป็นผู้รักษาเวลามาตรฐานประเทศไทยต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้

ดังนั้น ผู้ที่อยู่ในเขตพระนครก็จะได้ยินเสียงปืนใหญ่ ในตอนเที่ยงทุกวัน ส่วนบ้านใครที่อยู่ไกลออกไปจนไม่ได้ยินเสียงปืน ก็จะถูกเรียกว่าไกลปืนเที่ยงซึ่งหมายความว่า อยู่ไกลจากเมืองหลวง ห่างไกลความเจริญ เมืองหลวงมีเรื่องอะไร ก็ไม่รู้เรื่องรู้ราวนั่นเอง

อ้างอิง จำนงค์ ทองประเสริฐ. “ทุ่ม-โมง-นาฬิกา” ใน ภาษาไทยไขขาน.กรุงเทพฯ:แพร่พิทยา,๒๕๒๘ .

ดำรงราชานุภาพ,สมเด็จกรมพระยา.นิทานโบราณคดี.พิมพ์ครั้งที่ ๑๕.กรุงเทพฯ:บรรณาคาร , ๒๕๔๓.

สุนทรภู่.พระอภัยมณี.พิมพ์ครั้งที่ ๑๔.กรุงเทพฯ:บรรญาคาร,๒๕๑๗.

ที่มา: https://nokbindeaw.wordpress.com/

Leave a Reply