เจียชิ่ง จักรพรรดิธรรมดาที่ไม่ธรรมดา

เจียชิ่ง จักรพรรดิธรรมดาที่ไม่ธรรมดา

004-The_Imperial_Portrait_of_a_Chinese_Emperor_called_-Jiaqing-

จักรพรรดิชิงเหรินจง หรือจักรพรรดิเจียชิ่ง (Jiaqing Emperor ค.ศ.1760 – 1820) รัชกาลที่เจ็ดแห่งต้าชิง พระนามเดิม อ้ายซินเจว๋หลัวหยงเหยี่ยน พระองค์ทรงเป็นโอรสองค์ที่ 15 ของจักรพรรดิเฉียนหลง ที่ประสูติจากพระสนมแซ่เว่ย ซึ่งเป็นชาวฮั่นที่มาจากกองธงฮั่น

ดูจากพระชาติกำเนิดของพระองค์ซึ่งไม่ใช่ลูกคนโต แถมยังมีเลือดชาวฮั่น ทำให้เห็นว่า โอกาสที่หยงเหยี่ยนจะได้เป็นรัชทายาทนั้นน้อยแสนน้อย แต่ทว่า เฉียนหลงก็ทรงตัดสินพระทัยเลือกเขาเป็นรัชทายาท

หลังจากเฉียนหลงทรงครองราชย์ครบ 60 ปี ก็ทรงมีราชโองการที่ทำให้ขุนนางทั้งปวงตื่นตระหนก นั่นคือ “การประกาศสละราชสมบัติ” ของพระองค์ ด้วยเหตุผลว่าทรงชราภาพมากแล้ว อีกทั้งมิปราถนาจะครองราชย์นานกว่าพระอัยกา คือจักรพรรดิคังซี จึงตัดสินพระทัยสละราชสมบัติ และมีพระบัญชาให้เปิด “ราชโองการลับ” ของพระองค์ที่ซ่อนไว้หลังพระป้าย “เจิ้งต้ากวงหมิง” ในตำหนักเฉียนชิง (ตำหนักทรงพระอักษร) ประกาศให้หยงเหยี่ยนเป็นรัชทายาทสืบราชสมบัติต่อไป

สามปีแรกแห่งรัชกาลเจียชิ่ง พระองค์แม้จะได้ชื่อว่าเป็นจักรพรรดิ แต่ทว่าไร้ซึ่งอำนาจแท้จริง เพราะอำนาจการตัดสินใจขั้นสุดท้ายก็ยังคงอยู่กับ “ไท้ซ่างหวง” นั่นคือ (อดีต)จักรพรรดิเฉียนหลง พระบิดาที่ยังทรงมีพระชนมชีพอยู่ ทั้งยังมีขุนนางใหญ่คนโปรดของพระบิดาอย่าง “เหอเซิน” ที่คอยเป็นก้างขวางคอ ขวางทางอำนาจของพระองค์ กับบรรดาองค์ชายอีกมากมายที่ไม่ยอมรับพระองค์

แต่พระองค์ก็ทรงอดทน อดกลั้นมาถึงสามปีเต็มๆ

กระทั่งเมื่อไท่ซ่างหวงเฉียนหลงเสด็จสวรรคตจริงๆ โอกาสของจักรพรรดิเจียชิ่งก็มาถึง

พระองค์สั่งจับกุมเหอเซิน พร้อมคนในตระกูลของเขา ริบราชบาตรทั้งหมด พร้อพระราชทาน “สุราพิษ” ให้เหอเซินดื่มปลิดชีพตนเอง

เหตุการณืนี้ทำให้เหล่าขุนนางพากันแซ่ซ้องสดุดีพระองค์เป็นอันมาก เพราะเหอเซินนั้นอาศัยความเป็นคนโปรดของอดีตฮ่องเต้ ขูดรีดเศรษฐี เรียกรับสินบนาจากเหล่าขุนนาง ฉ้อราษฎร์บังหลวงไปมากมาย ว่ากันว่าทรัพย์สินของเขาทั้งหมดมีมากกว่างบประมาณแผ่นดินทั้งหมดของต้าชิงหลายปีรวมกัน ทั้งยังถูกจัดอันดับให้เป็นหนึ่งใน “บุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในรอบพันปี” ของโลกด้วย

การกำจัดและยึดทรัพย์เหอเซินในครั้งนี้ จึงมีคำเล่าขานในรูปบทเพลงชาวบ้านว่า “เหอเซินล้มลง เจียชิ่งพุงกาง”
และนี่ก็เป็น “ผลงาน” ที่โดดเด่นที่สุดในรัชสมัยของพระองค์

นอกจากนี้ ยังทรงลงโทษประหาร ถอดถอนฐานันดรศักดิ์ และเนรเทศเหล่าองค์ชายที่ต่อต้านพระองค์ไปนับร้อยคน

ในรัชกาลของพระองค์ ยังต้องเผชิญกับปัญหาความมั่นคงภายในประเทศ ทั้งจากการก่อหวอดของขบวนการนิกายบัวขาว รวมทั้งการลุกฮือของพวกนนเผ่าเหมียว (ม้ง) ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังมาตั้งแต่รัชกาลก่อน

นอกจากนี้ ยังต้องเผชิญปัญหาทางเศรษฐกิจ อันเนื่องมาจากการเกิดภาวะ “เงินไหลออกนอกประเทศ” ซึ่งเป็นผลมาจากการที่อังกฤษทุ่มส่ง “ฝิ่น” เข้ามาขายในจีน จนทำให้ชาวจีนติดฝิ่นกันถ้วนหน้า ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองของต้าชิงอย่างรุนแรง จนนำไปสู่ภาวะ “ขาดแคลนตำลึงเงิน” ที่ใช้จ่ายหมุนเวียนภายในประเทศ และก่อให้เกิดการแตกหักระเบิดเป็น “สงครามฝิ่น” ในรัชกาลต่อมา

ท่ามกลางสภาวะวิกฤตที่กำลังคุกคามราชวงศ์ชิงเช่นนี้ เจียชิ่ง จักรพรรดิที่ดูจะไม่มีอะไรโดดเด่นผู้นี้ ก็ยังทรงประคับประคองแผ่นดินต้าชิงที่พระบิดาทิ้งไว้ให้พร้อมกับความเสื่อมโทรมจากรัชกาลก่อนเอาไว้ได้

ในขณะที่ “การเสด็จสวรรคต” ของพระองค์ ก็ยังเป็น “ปริศนาดำมืด” ที่ไม่มีการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ นอกจากเพียงแค่ระบุว่า พระองค์เสด็จสวรรคตที่พระราชวังฤดูร้อนเฉิงเต๋อ และได้แต่งตั้งองค์ชายรองเหมี่ยนหนิงเป็นรัชทายาทสืบราชสมบัติต่อไป(เป็นจักรพรรดิเต้ากวง) เท่านั้น

เจียชิ่งทรงเป็นจักรพรรดิที่ดูธรรมดา แต่แฝงไปด้วยความไม่ธรรมดาจริง ๆ

ที่มา: เอเชียศึกษา

Leave a Reply