มหาวาตภัยที่แหลมตะลุมพุก
ตำบลตะลุมพุก ห่างจากที่ว่าการอำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ประมาณ 18 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมด 29.14 ตารางกิโลเมตร หรือ 10,212.50 ไร่ ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไป เป็นที่ราบชายฝั่งทะเล สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ประมาณ 1-5 เมตร สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่ ใช้ประโยชน์ในการปลูกมะพร้าว และเลี้ยงกุ้งกุลาดำ ตำบลแหลมตะลุมพุก อันเป็นแหลม ที่ยื่นออกไปในทะเลอย่างโดดเดี่ยว ปราศจากภูเขาบัง
JMA ตรวจพบการก่อตัวของหย่อมความกดอากาศต่ำ 1003 mbar ใกล้ประเทศฟิลิปปินส์ ในวันที่ 19 ตุลาคม 2505
หย่อมความกดอากาศอ่อนตัวลงที่ความกด 1006 mbar และกลับก่อตัวขึ้นเป็นพายุดีเปรสชัน ได้รับหมายเลขขณะนั้นว่า 78W ในวันที่ 22 ตุลาคม 2505
พายุดีเปรสชัน 78W เคลื่อนที่มุ่งตรงเข้ามาทางอ่าวไทย ทวีกำลังขึ้นเป็นพายุโซนร้อนในเช้าวันที่ 25 ตุลาคม 2505 และได้รับการตั้งชื่อว่า แฮเรียด
พายุโซนร้อนที่ชื่อ แฮเรียต พัดผ่านเข้ามาทางตอนใต้ของไทย เริ่มพัดเข้าใส่จังหวัดนครศรีธรรมราชตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2505 ตั้งแต่ยังเป็น ดีเปรสชั่นจนทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เกิดเป็นมหาวาตภัยครั้งแรกของประเทศไทยนำความเสียหายให้แก่ จ.นครศรีธรรมราชมากที่สุด รวมทั้งจังหวัดอื่นๆ ที่ใกล้เคียงอีก 12 จังหวัด เครื่องมือสื่อสารถูกทำลายหมด ทางรถไฟขาด น้ำท่วมทาง เพราะพายุพัดแรงจัด ข่าวต่างๆ กว่าจะเข้าถึงกรุงเทพฯ ได้ ต้องใช้เวลาถึง 2 วัน
24 ตุลาคม 2505 วิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ออกประกาศว่า ได้เกิดพายุโซนร้อน อยู่ห่างจากฝั่งประมาณ 200 กิโลเมตร มีความเร็วลม 180-200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อยู่นอกฝั่งของจังหวัดสงขลา ประกาศเตือนให้ประชาชนระวัง เพราะพายุนี้จะขึ้นฝั่ง ประมาณวันที่ 25 ตุลาคม 2505
นายแจ้ง ฤทธิเดช นายอำเภอปากพนังในเวลานั้น พูดถึงความไม่รู้จักคำว่า “พายุโซนร้อน” ของประชาชนว่า “ประชาชนฟังประกาศ ของกรมอุตุนิยมไม่รู้เรื่อง การที่ราษฎรชาว จ.นครฯ ต้องสูญเสียอย่างมากมายครั้งนั้น เพราะเป็นเส้นทางของพายุ ผ่านตลอดทั้งจังหวัด วิทยุประกาศพวกเขาก็รู้แต่ฟังไม่เข้าใจ ถ้าใช้คำชาวบ้านเตือนกันก็จะเข้าใจมากกว่า พวกเขาจะได้รู้ว่า พายุเหล่านั้นมีความร้ายแรงแค่ไหน…”
คำสารภาพของทางราชการ “ทางราชการไม่รู้ว่า จะบอกให้ราษฎรรู้ตัวก่อน เพื่อป้องกันพายุได้อย่างไร เพราะไม่รู้แน่ว่า พายุจะมาหรือไม่ ถ้าพายุไม่มาจริง ราษฎรก็จะสวดเอา ถ้ามาจริง ก็ไม่รู้ว่าจะให้อพยพไปอยู่ที่ไหน เรื่องนี้เป็นเรื่องของเคราะห์กรรม ทางราชการก็ไม่รู้ว่า จะช่วยให้ความเสียหาย เบาบางลงได้อย่างไร”
บ่ายวันที่ 25 ตุลาคมนั้น ประมาณ 16.00 น. จากคำบอกเล่าของชาวบ้านเล่าว่าก่อนพายุเคลื่อนขึ้นฝั่ง ทางขอบฟ้าตะวันออกและทิศใต้ก็พลันมืดคลุ้มเหมือนอย่างผืนม่านกั้นแล้วเกิดเป็นสายๆ หลายสายแบบลมงวงช้างหรือลมป่องหรือลมหางหนู แต่ครั้งนี้มีเกิดหลายสายอย่างไม่เคยมีมาก่อน
จากนั้นฝนก็ตกหนักต่อไปจนถึง 19.00 น. ก็เกิดมีลมพัดอู้แรง จากทางทิศเหนือ บ้านหลายหลังเริ่มพังในขณะที่ทางทิศเหนือนั้นปรากฎเป็นเสียงดังลั่น เห็นแสงสว่างจ้าและน้ำก็ไหลเชี่ยวกรากเป็นฟองแตกพุ่งเข้าใส่แหลมตะลุมพุก แม้ที่ปากพนังน้ำในแม่น้ำก็ล้นท่วมเมืองเช่นกัน ลม ฝนและน้ำคลื่นยักษ์จากทาง ทิศเหนือนี้พัดกระหน่ำอยู่ประมาณ 1 ชั่วโมงแล้วสงบลงโดยผู้คนเกิดสับสนอลหม่าน บ้านพังบ้างแล้ว ที่เจ็บตายก็ช่วยเหลือกันไป ที่ยังรอดอยู่ต่างก็อพยพไปอยู่บ้านหลังที่ใหญ่มั่นคงแข็งแรงกว่า บางหลังอยู่กันเป็นร้อยคนเฉพาะที่โรงพระจีน นั้นอยู่กันถึง 300 คน แต่ลมพายุสงบเพียง 5 นาทีเท่านั้น น้ำที่ท่วมอยู่ประมาณ 2-3 เมตร ลดลงเพียง 1 คืบ ก็บังเกิดลมจากทางทิศใต้พัดหวีดหวือเข้ามาใหม่ คราวนี้ทั้งแรงกว่าและระดับคลื่นก็สูงกว่าบ้านที่ถูกทิ้งโยกไว้นั้นพังในพริบตาขณะที่บ้านหลังมั่นคง จุดอพยพของคนนับร้อยๆ ค่อยๆ ถูกน้ำท่วมท้นจนมิด หรือไม่ก็หลุดลอยย้ายตำแหน่ง แตกรานกระทั่งไปกระทบต้นไม้ หลายหลังถูกคลื่นซัดพาลงไปกลางทะเล โดยทุกหลังล้วนแต่มีผู้คนแออัดยัดเยียดติดไปด้วย จากคำบอกเล่าของผู้รอดชีวิตจากบางหลังๆ ละเพียง 2-3 ชีวิต เล่าว่าต่างกระเสือกกระสนดิ้นรนไม่ผิดกับแมวที่ถูกจับใส่กล่องโยน น้ำ ระลอกหลังนี้พายุพัดอยู่อีก 1 ชั่วโมง จึงสงบพร้อมกับระดับน้ำที่ลดลงทิ้งซากผู้คนสิ่งของที่ลอยไว้ตามยอดมะพร้าวและป่าแสม รวมทั้งผู้ที่รอดชีวิตทั้งหลายด้วยส่วนบนพื้นนั้น ซากศพ อาคารบ้านเรือนสิ่งของต่างๆ ระเกะระกะไปทั่ว
ชาวบ้านเล่าถึงสภาพหมู่บ้านหมู่ที่ 4 ของแหลมตะลุมพุก ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่อยู่ปลายแหลมสุดว่า ที่หมู่บ้านนี้ถูกคลื่นกวาดลงทะเลทางด้านอ่าวไทย เรียบไม่มีเหลือ ที่บ้านนี้มีบ้านประมาณ 40 หลังคาเรือน ส่วนใหญ่เป็นบ้านที่ไม่ค่อยจะแข็งแรงเท่าใดนัก ดังนั้นผู้คนส่วนมาก จึงมารวมกันที่บ้านผู้ใหญ่บ้าน สง่า วงศ์เจียสัจ ซึ่งเป็นบ้านที่แข็งแรง กว่าทุกบ้านในหมู่บ้านนี้ แต่แล้วพอคลื่นมาระลอกแรก ก็ซัดเอาบ้านทั้งหลัง และชาวบ้านที่มารวมตัวกันกว่า 200 คน หายไปในพริบตา สุดท้ายหมู่บ้านแห่งนี้ ก็เหลือผู้รอดชีวิตเพียงแค่ 2 คนเท่านั้น
จังหวัดนครศรีธรรมราช อยู่ในสภาพเหมือนถูกปล่อยเกาะ เส้นทางที่จะติดต่อกับจังหวัดอื่น ถูกทำลายพินาศหมด ทั่วทุกหัวระแหงในจังหวัด อยู่ในสภาพขาดแคลนทั้งเสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย อาหาร ยารักษาโรค ไฟฟ้าในจังหวัดก็ดับหมด
9 จังหวัดในภาคใต้ ได้รับความเสียหายอย่างมาก สถานที่ราชการ อาคารบ้านเรือน โรงเรียน วัด ถูกพายุพัดพังระเนระนาด การไฟฟ้าและสถานีวิทยุตำรวจเสียหายหนัก ไม่สามารถติดต่อกันได้ เรือที่ออกทะเลเสียหายมากมาย ต้นยาง ต้นมะพร้าว และต้นไม้อื่นๆ ล้มพินาศมหาศาล สวนยางนับแสนๆ ต้นโค่นล้มขวางเป็นสิบๆ กิโลเมตร หลายร้อยคนหาทางออกไม่ได้ คนภายนอกจะเข้าไปช่วยเหลือก็ไม่ได้ การช่วยเหลือต้องส่งเครื่องบินไปทิ้งอาหารให้
กองทัพเรือออกปฏิบัติการ ช่วยเหลือค้นหาเรือประมง ในหลายจังหวัดทางภาคใต้ ที่สูญหายไปเป็นจำนวนมาก และได้ค้นพบศพเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในทะเลและบนบก
เรือ “บ้านดอน” ที่มีระวางขับน้ำ 245 ตัน ราคา 3 ล้านบาท ของบริษัทเดินเรือไทย ซึ่งอับปางลง โดยมีลูกเรือคือ นายปาน สมรรถ กับ นายโมห์ วาฮับ ลอยคอเกาะเศษไม้อยู่ในทะเลถึง 4 วัน จนได้รับความช่วยเหลือ จากชาวประมงมลายูที่กัวลาลัมเปอร์
รองอธิบดีกรมตำรวจสั่งการไปยังหน่วยบิน และหน่วยปฏิบัติการใต้น้ำ แห่งกองบังคับการตำรวจน้ำ ออกค้นหา แต่ต้องเผชิญกับอุปสรรคคลื่นลมพายุ จนหมดความสามารถ ที่จะค้นหาผู้รอดชีวิตในทะเลได้
การรถไฟแห่งประเทศไทย ประกาศงดเดินขบวนรถด่วนสายใต้ เพราะภูเขาดินพังทลาย ทับรางระหว่างสถานีช่องเขา กับสถานีร่อนพิบูลย์ ในทะเลศพเริ่มลอยเกลื่อน ไม่เหลือผู้รอดชีวิตให้ช่วยเหลือ จากเครื่องบินหรือเรือรบเลย และผู้ที่เหลือรอด เผชิญกับปัญหาความอดอยาก และพบซากเรือแตกทั่วท้องทะเล จังหวัดนครศรีธรรมราชเวลากลางคืน มืดทึบไปหมดทั้งเมือง เพราะไฟฟ้าใช้การไม่ได้
จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ปราศรัยถึงผู้ประสบวาตภัยว่า รู้สึกเสียใจอย่างสุดซึ้ง คนไทยทั้งชาติ รวมทั้งต่างชาติ อาทิ อังกฤษ, อิตาลี, เวียดนาม, สวีเดน, สหรัฐ ฯลฯ ตกตะลึงต่อข่าวมหาวิปโยค ต่างก็เข้ามาช่วยเหลือ และบริจาคให้กับผู้ประสบภัย ที่รอดชีวิตในครั้งนั้น
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ด้วยความโทมนัสพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้วิทยุ อ.ส.พระราชวังดุสิต กระจายข่าวอย่างละเอียด เชิญชวนให้ประชาชน ร่วมบริจาคกับในหลวง รวบรวมสิ่งของ เครื่องใช้ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม และเงินตามศรัทธา เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบวาตภัยดังกล่าว เพียงเวลาไม่นานนัก ประชาชนที่รับฟังข่าวจากวิทยุ อ.ส.พระราชวังดุสิต ต่างก็หอบหิ้วสิ่งของ ตามที่มีอยู่และซื้อหามาได้ ทั้งถุงข้าว เสื้อผ้า จอบ เสียม หม้อ กระทะ เข้าสู่พระราชตำหนักจิตรลดารโหฐานเป็นทิวแถว ได้ข้าวของมากมายกองเต็มไปหมด
ทรงพระราชกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ร.ส.พ. รถไฟ เครื่องบินของกองทัพอากาศ เรือของกองทัพเรือ รถยนต์ของหน่วยราชการ ทั้งหมดที่มีที่ช่วยได้ ก็ระดมกันมาช่วยเหลือผู้เคราะห์ร้ายเป็นการด่วน
และเหตุการณ์ในครั้งนั้น ทำให้เกิด มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชฯ ได้พระราชทานเงินบริจาค ให้นำไปบรรเทาทุกข์อย่างทั่วถึง แล้วยังมีเงินเหลืออยู่ จึงทรงพระกรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้อธิบดีกรมประชาสงเคราะห์ ขอจดทะเบียนตั้งมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ.2506 โดยได้พระราชทานเงินจำนวน 3 ล้านบาท ให้เป็นทุนประเดิม ของมูลนิธิฯ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันท่วงที มีการบริจาคเงิน ช่วยเหลือผู้ประสบวาตภัยอย่างคึกคัก ทั้งทางสถานีวิทยุ และสภากาชาดไทย
สภาพแหลมตะลุมพุกหลังพายุนั้น ไม่มีบ้านเรือนราษฎรเหลืออยู่เลย ศพลอยเกลื่อนน้ำมากมาย แทบจะหาผืนดินฝังศพไม่ได้ หลุมศพ 1 หลุ่มต้องฝังศพประมาณ 6-7 ศพ โดยมีการฝังรวมกัน ที่ปลายแหลมชั่วระยะหนึ่ง ก่อนจะขุดศพเหล่านั้น ขึ้นมาทำพิธีทางศาสนาอีกครั้งในภายหลัง
พายุโซนร้อนแฮเรียตส่งผลกระทบต่อ 9 จังหวัดในภาคใต้ มีผู้เสียชีวิต 911 คน สูญหายอีก 142 คน บาดเจ็บสาหัส 252 คน ไร้ที่อยู่อาศัย 16,170 คน อาคารบ้านเรือนทั่วทั้งจังหวัดพังทั้งหลัง 22,296 หลัง ชำรุด 50,775 หลัง โรงเรียนพังเสียหาย 435 แห่ง สวนยางสวนผลไม้เสียหายประมาณ 791 ล้านต้น สถานที่ราชการ โรงเรียน วัด การไฟฟ้าและสถานีวิทยุตำรวจเสียหายหนัก ต้นไม้โค่นล้มขวางทางยาวนับสิบกิโลเมตร รถไฟด่วนสายใต้ต้องหยุดเดินรถเพราะภูเขาดินพังทลายทับรางระหว่างสถานีรถไฟช่องเขากับสถานีรถไฟร่อนพิบูลย์ประเมินความเสียหายกว่า 377 ล้านบาท
ที่มา: wikipedia.org , palungjit.org , tungsong.com