จำกัด พลางกูร

จำกัด พลางกูร

หลังจากญี่ปุ่นบุกไทยในปลายปี 2484 ต้นปี 2485 รัฐบาลไทยก็ประกาศสงครามกับฝ่ายพันธมิตร (อังกฤษและสหรัฐอเมริกา) และร่วมรบกับญี่ปุ่น ประชาชนไทยทั้งในและต่างประเทศจำนวนมากที่รักชาติไม่พอใจ และร่วมกันสร้างองค์กรต่อต้านญี่ปุ่นอย่างลับ ๆ โดยมีหลวงประดิษฐ์ มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระองค์ เป็นหัวหน้า

ตลอดปี 2485 การจัดรูปแบบองค์กรใต้ดินโดยรวบรวมสมัครพรรคพวกในประเทศไทยดำเนินไปเข้มข้นอย่างคู่ขนานกับการ “กบฎ” ของข้าราชการไทยในสหรัฐอเมริกาซึ่งนำโดยเอกอัครราชทูต ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และข้าราชการและนักเรียนไทยในอังกฤษซึ่งต่อมานำโดยพันโท หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน

แต่ละกลุ่มเคลื่อนไหวโดยเชื่อมต่อกับกองบัญชาการของประเทศพันธมิตร สำหรับกลุ่มเสรีไทยในประเทศไทยก็รวบรวมนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักเรียนนายสิบสารวัตรทหาร ฯลฯ และชาวบ้านประชาชนรวมกำลังได้ 10,000 คน ปัญหาที่กลุ่มเสรีไทยในประเทศประสบก็คือทำอย่างไรให้ฝ่ายพันธมิตร ตลอดจนกลุ่มเสรีไทยในประเทศอื่น ๆ รับรู้การมีตัวตนของกลุ่มนี้ในประเทศไทย ทำอย่างไรให้รู้ว่ามีคนไทยจำนวนมากไม่พอใจการเข้าร่วมรบกับญี่ปุ่นและต่อต้านการประกาศสงครามและมีความปรารถนาเป็นมิตรกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกาเพื่อต่อต้านและขับไล่ญี่ปุ่นออกไปจากแผ่นดินไทย ฯลฯ กลุ่มเสรีไทยมองข้ามไปถึงหลังสงครามว่าการเคลื่อนไหวเช่นนี้จะช่วยให้พันธมิตรซึ่งเป็นผู้ชนะเข้าใจและเห็นอกเห็นใจ เพื่อไทยจะได้ไม่อยู่ในฐานะผู้แพ้สงครามซึ่งดินแดนอาจถูกยึด แบ่งเป็นส่วน ๆ ชดใช้หนี้สงคราม ฯลฯ

การติดต่อสื่อสารทางวิทยุ ทางไปรษณีย์ ทางโทรเลข เพื่อให้ถึงคนเหล่านี้นั้นเลิกคิดได้ เพราะจารชนที่ทำงานให้ญี่ปุ่นมีอยู่เต็มไปหมด ญี่ปุ่นเองก็มีการหาข่าวที่มีประสิทธิภาพ หนทางเดียวก็คือใช้บุคคลสื่อสาร

ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2486 นายปรีดี พนมยงค์ ก็ตัดสินใจส่งจำกัด พลางกูร คนที่ท่านคัดเลือกแล้วว่าเหมาะสมออกเดินทางไปทำงานสำคัญนี้ การตัดสินใจคาดว่าลำบากมากเพราะท่านรักใคร่ คุ้นเคยกับจำกัด พลางกูร เป็นอย่างดี ยิ่งไปกว่านั้นจำกัดมีภรรยาซึ่งก็เป็นคนที่ครอบครัวท่านรักใคร่มากด้วย

 

จำกัด พลางกูร เป็นบัณฑิตหนุ่มอนาคตรุ่งในวัย 28 ปี เรียนจบจากมหาวิทยาลัย อ๊อกซฟอร์ด เริ่มเรียนตั้งแต่ชั้นมัธยมด้วยทุนของกระทรวงธรรมการ (ศึกษาธิการ) มีความรู้และมันสมองที่เป็นเลิศ กล้าคิดกล้าแสดงความคิดเห็น (หลังจากรับราชการอยู่พักหนึ่งก็โดนให้ออกจากราชการเพราะเขียนบทความวิจารณ์การใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรี) และเหนือสิ่งอื่นใดเป็นคนรักชาติอย่างแรงกล้า มีความกล้าหาญและพร้อมที่จะอาสาเสี่ยงชีวิตไปทำงานชิ้นนี้

นายปรีดี พนมยงค์ ได้เลือกเส้นทางไปเมืองจุงกิง (ฉงชิ่ง ในปัจจุบัน) เมืองหลวงชั่วคราวของจีนซึ่งมีจอมพลเจียง ไคเชกเป็นผู้นำและเป็นมหามิตรของกลุ่มพันธมิตร นายจำกัดใช้เวลาเดินทางหนึ่งเดือน โดยไปกับนายไพศาล ตระกูลลี้ ล่ามภาษาจีน ทั้งสองไปถึงจุงกิงท่ามกลางแรงกดดันทางการเมืองระหว่างประเทศ และความเห็นหลากหลายของกลุ่มเสรีไทย

เมื่อเดินทางถึงจำกัด พลางกูร ติดต่อกับสถานทูตไทยในสหรัฐอเมริกาเพื่อให้มารับตัวเขาไปลอนดอนเพื่อยืนยันการมีตัวตนจริงของขบวนการเสรีไทยในเมืองไทยหลังจากเขาทำงานที่เมืองจีนเสร็จแล้ว นอกจากนี้เขายังส่งแผนการของคณะเสรีไทยให้รัฐบาลอังกฤษ แต่ก็ไม่เป็นผลในตอนแรก เขาต้องใช้ความสามารถในการเข้าหาฝ่ายอังกฤษอธิบายสถานการณ์ของไทย เรื่องราวของขบวนการเสรีไทย และสื่อความตั้งใจจริงของคนไทยตลอดเวลาหลายเดือน โดยกินอยู่อย่างอด ๆ อยาก ๆ ที่อยู่ก็คับแคบและหนาวเย็น

ในที่สุดเขาก็ได้พบจอมพลเจียง ไคเชก ได้ชี้แจงเรื่องราวจนจอมพลรับปากว่าจะช่วยเหลือไทยหากพันธมิตรชนะสงครามและรับรองจะคืนสถานะเอกราชให้ไทย ซึ่งความคิดนี้มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของประเทศพันธมิตรในเวลาต่อมา

อุปสรรคของจำกัดมีหลายประการเช่น ความคลางแคลงสงสัยในตัวเขาว่าเป็นจารชน ความสงสัยในความจริงใจและการมีกลุ่มเสรีไทยที่เข้มแข็ง นายปรีดีเป็นหัวหน้าจริงหรือไม่หรือกล่าวอ้างกันเพื่อสร้างความเชื่อถือ การไม่สามารถติดต่อกับสถานทูตไทยในสหรัฐอเมริกาและการตอบรับข้อความที่จำกัดส่งออกไปอย่างมีประสิทธิภาพ ฯลฯ

ขวากหนามสำคัญอันหนึ่งก็คือในตอนแรกทางการจีนพยายามกีดขวางไม่ให้จำกัดติดต่อหรือพบกับฝ่ายอังกฤษ สหรัฐอเมริกา และแม้กระทั่งเสรีไทยจากอังกฤษและสหรัฐอเมริกา เพราะต้องการบีบให้ไทยตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นในจีนเพื่อจะหวังมีอิทธิพลเหนือไทยหลังสงคราม

เมื่อเหตุการณ์คลีคลายขึ้น ตัวแทนจากเสรีไทยในอังกฤษและสหรัฐอเมริกาได้เดินทางมาพบจำกัดหลังจากพันธมิตรเริ่มเชื่อถือความจริงจังและจริงใจของฝ่ายไทยมากขึ้นอันเป็นผลพวงจากการทำงานหนักของจำกัด แต่อนิจจา..ได้พบกันก่อนจำกัดเสียชีวิตไม่นาน

จำกัดเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในลำไส้ตามการสันนิษฐานของหมอจีน ในวันที่ 7 ตุลาคม 2486 ในวัยเพียง 28 ปี วาจาครั้งสุดท้ายของเขาก็คือ “เพื่อชาติ…..เพื่อ Humanity…..”

จำกัดได้บันทึกสิ่งที่เขาได้พบและงานที่ได้ทำไปในช่วงเวลานี้ไว้ในกระดาษกว่า 1,000 หน้า ภรรยาของท่านคือท่านอาจารย์ฉลบชลัยย์ พลางกูร ผู้ก่อตั้งโรงเรียนดรุโณทยานที่สร้างคนดีไว้เป็นจำนวนมากในสังคมไทยได้มอบให้หอสมุดแห่งชาติ

วีรบุรุษท่านนี้รู้ดีว่ามีโอกาสได้กลับบ้านน้อยมาก ท่านได้กล่าวไว้กับภรรยาก่อนเดินทางไปว่า “…..ฉลบจ๋า เธอจงอยู่ไปดี ๆ นะ เธอจงคิดว่าได้อุทิศฉันให้แก่ชาติไปแล้วก็แล้วกัน”

ที่มา: ตีพิมพ์ครั้งแรกคอลัมน์ “อาหารสมอง” น.ส.พ.กรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่ 10 ก.ย. 2556

Leave a Reply