คำสาปแช่งที่ปรากฏในลิลิตโองการแช่งน้ำ
ลิลิตโองการแช่งน้ำ หรือ ประกาศแช่งน้ำโคลงห้า เป็นวรรณคดีเก่าแก่มากที่สุดเรื่องหนึ่งของไทย
มีความสำคัญทั้งด้านวรรณคดี นิรุกติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และสังคมของไทย เป็นวรรณคดีที่มีความยาวเพียงไม่กี่หน้า แต่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดเรื่องหนึ่ง เป็นโองการสำหรับใช้อ่านหรือสอนในพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา กระทำสัตย์สาบานต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นพิธีที่ประกอบขึ้นเพื่อเป็นการแสดงความจงรักภักดีของ ข้าราชการและขุนนางในพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา
เชื่อกันว่าลิลิตโองการแช่งน้ำแต่งขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้นคือรัชสมัยของพระรามาธิบดี ที่ ๑
เนื่องจากมีข้อความตอนหนึ่งว่า “ผู้บ่ดีบ่ซื่อใครใจคอใจคด ขบถเจ้าผู้ผ่านเกล้าอยุธยา
สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจักพรรดิศรราชาธิราช ท่านมีอำนาจ มีบุญ”
เนื้อเรื่องของลิลิตโองการแช่งน้ำแบ่งเป็น ๕ ส่วนด้วยกัน กล่าวคือ
๑. คำสดุดีเทพเจ้าทั้ง ๓ องค์ ในศาสนาพราหมณ์หรือตรีมูรติ
ประกอบด้วยร่าย ๓ บท สรรเสริญพระนารายณ์ พระอิศรและพระพรหม
ต่อมาเป็นเรื่องไฟล้างโลก การ สร้างโลก และการอภิเษกพระเจ้าแผ่นดิน
๒. การอัญเชิญพระรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย มาเป็นพยานในพิธี
ซึ่งมีคติความเชื่อเรื่องผีบ้านผีเรือน เทวดาชั้นต่าง ๆ และเทวดาอารักษณ์ ที่ทำหน้าที่ปกปักษ์รักษา
จึงต้องเชิญมาเพื่อให้เป็นพยานและเป็นหูเป็นตามิให้ผู้คิดคดทรยศ ความเชื่อเรื่องเทวดา
หรือเทพเจ้าต่าง ๆ นี้ เป็นคติพราหมณ์แต่มีคติทางพุทธมาเจือปน
จากการอัญเชิญพระรัตนตรัยมาเป็นพยาน
๓. คำสาปแช่ง ผู้คิดคดทรยศต่อพระเจ้าแผ่นดิน ให้ประสบภัยพิบัติต่าง ๆ
ทั้งเมื่อยังมีชีวิตอยู่ ก็ให้ ประสบภัยพิบัติต่าง ๆ ทั้งจากสัตว์ร้ายจากคมหอกคมดาบ
๔.คำอวยพร ผู้ที่มีความจงรักภักดี คือเมื่อยังมีชีวิตอยู่ให้ได้รับความดีความชอบ
ปูนบำเหน็จจากพระเจ้าแผ่นดิน ให้เจริญด้วยพร ๔ ประการ เมื่อตายไปให้เทวดานำขึ้นไปสู่สวรรค์เป็นต้น
๕. คำถวายพระพรต่อพระเจ้าแผ่นดิน
คำสาปแช่งที่ปรากฏในลิลิตโองการแช่งน้ำ
แช่งให้ตายรวดเร็ว
“พนธุพวกพ้องญาติกามาไสร้ ไขว้ใจจอด ทอดใจรัก ชักเกลอสหาย ตนทั้งหลายมาเพื่อจะทำขบถ ทดโหร่ห์แก่เจ้าตนไสร้ จงเทพยดาฝูงนี้ ให้ตายในสามวัน อย่าให้ทันในสามเดือน อย่าให้เคลื่อนในสามปี อย่าให้มีศุขสวัสดิเมื่อใด ฯ” (จิตร ภูมิศักดิ์.๒๕๒๔ : ๓๙๐)
แช่งให้น้ำสาบานกลายเป็นเปลวไฟตัดคอ
“…………………………
บ่ซื่อ มล้างออเอา ใส่เล้า
บ่ซื่อ น้ำอยาดท้อง เปนรุ่ง
บ่ซื่อ แร้งกาเต้า แตกตา” (จิตร ภูมิศักดิ์.๒๕๒๔ : ๓๘๘)
ให้น้ำสาบานที่ตกถึงท้องคนคิดทรยศกลายเป็นสัตว์ร้าย
“ เจาะเพาะพุง ใบแบ่ง
บ่ซื่อ หมาหมีหมู เข่นเขี้ยว
เขี้ยวชาชแวง ยายี
ยมราชเกี้ยว ตาตาว ช่วยดู ฯ” (จิตร ภูมิศักดิ์.๒๕๒๔ : ๓๘๘)
ให้ผีมาสูบ ทำร้าย ตกนรกอเวจี
“จุ่งมาสูบเอา เขาผู้บ่ซื่อ ชื่อใครใจคด ขบถเกียจกาย หว้ายกะทู้ฟาดฟัน คว้านแคว้นมัดศอก หอกดิ้นเด้าเท้าทก หลกเท้าให้ไป่มิทันตาย หงายระงมระงม ยมพบาลลากไป ไฟนรกปลาบปลิ้นดิ้นพลาง เขาวางเหนืออพิจี” (จิตร ภูมิศักดิ์.๒๕๒๔ : ๓๘๙ – ๓๙๐)
ให้ข้าวที่กินร้อนเป็นไฟ พึ่งน้ำไม่ได้จนตาย
“อย่ากินเข้าเพื่อไฟ จนตาย อย่าอาไศรยแก่น้ำ จนตาย” (จิตร ภูมิศักดิ์.๒๕๒๔ : ๓๙๐)
ให้ไปเกิดเป็นปล่องไฟที่ถูกไฟเผาตลอดเวลา, นอนในบ้านให้หญ้าคาที่มุงบ้านเป็นดาบทำร้ายเอา, ให้ฟ้าถล่มทับ, แผ่นดินสูบ, ให้กินแต่ไฟ
“นอนเรือนคำรนคา จนตาย ลืมตาหงายสู่ฟ้า จนตาย ก้มหน้าลงแผ่นดิน จนตาย สีลองกินไฟต่างง้วน จนตายฯ” (จิตร ภูมิศักดิ์.๒๕๒๔ : ๓๙๐)
คำสาปแช่งในคำประกาศถวายสัตย์สาบานในรัชกาลที่ ๕
ให้เทพดลพระทัยพระเจ้าอยู่หัวประหารชีวิต
“…ถ้ามีการศึกยกมากระทำแก่พระนครก็ดี พระพุทธเจ้าอยู่หัวจะใช้ข้าพระพุทธเจ้าไปกระทำสงครามแห่งใด ตำบลใดก็ดี ถ้าข้าพระพุทธเจ้าเกรงกลัวข้าศึกมากกว่าเจ้า ไม่ทำการเอาชัยชนะข้าศึกได้ ขอให้เทพยเจ้าอันรักษาโลกในมงคลจักรวาฬ หมื่นโกฎิจักรวาฬแสนโกฏิจักรวาฬ มาเข้าดลพระทัยพระเจ้าอยู่หัว ให้ตัดหัวผ่าอกข้าพระพุทธเจ้า…”(เบญจมาศ พลอินทร์, ๒๔๒๓ : ๒๓)
ให้เทวดามาเอาชีวิตไป
“…ถ้าข้าพระพุทธเจ้ามิได้ ตั้งอยู่ในความสัจสาบานดุจกล่าวมานี้ ขอจงภูมิเทวดา อารักษเทวดา อากาศเทวดา รุกขเทวดา ท้าวจตุโลกบาล ท้าวอัฐโลกบาล ท้าวทัศโลกบาลอันมีฤทธิ์สิทธิศักดิ์ลงสังหารผลาญชีวิต ฯ…”(เบญจมาศ พลอินทร์, ๒๔๒๓ : ๒๓)
ไม่ให้พบรัตนตรัย
“…ครั้งสิ้นกรรมจากที่นั้นแล้ว แล้วจงไปบังเกิดในภพใด ๆ อย่าให้ข้าพระพุทธเจ้าพบพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสงฆ์เจ้า ซึ่งจะมาโปรดให้ข้าพระพุทธเจ้าได้เลย…” (เบญจมาศ พลอินทร์, ๒๔๒๓ : ๒๓)
ให้ตายด้วยภัยธรรมชาติ อาวุธเทวดา และสัตว์ร้าย
“…ให้ฉินทภินทะพินาศ ด้วยอุปะปีฬก, อุปเฉทคกรรมุปะฆาฏด้วยอัสนีบาตรสายฟ้าฟาด ราชสัตถาวุธดาบ องครักษ์จักรนารายณ์ กระบือเสี่ยว ช้างแทง เสือสัตว์อันร้ายในน้ำในบก จงพิฆาฏอย่าให้ปราศจากปัญจวีสติมหาภัย ๒๕ ประการ และทวดึงส์ กรรมกรณ์ ๓๒ ประการ…”(เบญจมาศ พลอินทร์, ๒๔๒๓ : ๒๓)
ให้ตายด้วยโรคร้ายภายใน ๓ วัน ๗ วัน
“…ถ้าข้าพระพุทธเจ้ารับพระราชทานน้ำพิพัฒน์สัจจาธิษฐานนี้แล้ว จงบันดาลให้เกิดฝีพิษ ฝีกาลอติสารชราพาธ ฉันนะวุติโรคร้าย ๙๖ ประการ ให้อกาลมรณภาพตายด้วยความทุกข์เวทนาลำบากให้ประจักษ์แก่ตาโลกใน ๓ วัน ๗ วัน…” (เบญจมาศ พลอินทร์, ๒๔๒๓ : ๒๓)
ให้ตกนรกหมกไหม้
“แล้วจงไปบังเกิดในมหานรกหมกไหม้อยู่สิ้นแสนกัลป์อนันตชาติ”(เบญจมาศ พลอินทร์, ๒๔๒๓ : ๒๓)
ข้อสังเกตของคำสาปแช่งสมัยอยุธยาและสมัยรัตนโกสินทร์ รัชการที่ ๕
สมัยอยุธยา ไม่ปรากฏการให้พรผู้ดื่มน้ำสาบานที่ทำตามคำสาบาน การประพันธ์ร่าย และโครง อ้างอำนาจเทวดาและความเชื่อศาสนาพราหมณ์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำท้องถิ่น คำสาปแช่งมีน้อย
สมัยรัชกาลที่ ๕ มีการให้พรมากมายเพื่อตอบแทนที่ตนปฏิบัติตามคำสาบาน การประพันธ์แบบความเรียง อ้างอำนาจพระรัตนตรัยเป็นส่วนใหญ่และความเชื่อตามศาสนาพุทธ คำสาปแช่งมีมาก เน้นโรคร้าย
ที่มา: https://www.gotoknow.org/posts/563119 , http://www.arunsawat.com/ ,