อุณรุทร้อยเรื่อง

อุณรุทร้อยเรื่อง

262321__18042012014838

อุณรุทร้อยเรื่อง เป็นวรรณคดีขนาดสั้น แต่งในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีชื่อเสียงรู้จักกันดีในหมู่ผู้นิยมบทกลอน ประพันธ์โดย คุณสุวรรณ กวีหญิงผู้มีชื่อเสียงมาก ท่านหนึ่งในแวดวงวรรณคดีของไทย

อุณรุทร้อยเรื่องเป็นกลอนบทละครที่แต่งด้วยอารมณ์ขัน ไม่ได้ตั้งใจที่จะใช้แต่งละครจริงๆ กวีได้นำตัวละครร้อยกว่าชื่อจากวรรณคดีเรื่องต่างๆ มาร้อยโยงเป็นเรื่องเดียวกัน โดยใช้สำนวนภาษาที่ไพเราะ เป็นที่รู้จักและท่องจำกันอย่างแพร่หลายในยุคที่แต่งนั้น ทว่าเวลาที่แต่งเรื่องไม่ปรากฏหลักฐาน แต่เชื่อกันว่าน่าจะแต่งในสมัยรัชกาลที่ 4 ช่วงต้นรัชกาล

เหตุที่เรียกวรรณคดีเรื่องนี้ ว่า อุณรุทร้อยเรื่อง เพราะวรรณคดีเรื่องนี้ขึ้นต้นด้วยตัวละครชื่อ อุณรุท และมีการเอ่ยถึงตัวละครจากวรรณคดีจำนวนมาก โดยมีตัวละครนับได้ 144 ตัว และมาจากวรรณคดีเรื่องต่างๆ ถึง 51 เรื่อง โดยมากเป็นตัวละครจากเรื่องที่คุ้นเคยกันดีในเวลานั้น เช่น จากเรื่อง พระอภัยมณี รามเกียรติ์ อิเหนา ไกรทอง เป็นต้น

๏ เมื่อนั้น
พระอุณรุท ผู้รุ่งรัศมี
สมสู่อยู่ด้วยนางจันที
ภูมีตรีตรึกนึกใน
แค้นด้วยอิเหนากุเรปัน
กับสุวรรณมาลีศรีใส
เอานางจันสุดายาใจ
ไปยกให้พระสมุท บุตรระตู
เสียดายวงศ์อสัญแดหวา
พระราชาเคืองแค้นแสนอดสู
เหม่ เหม่ อสุรินดูหมิ่นกู
จะได้ดูฤทธิ์กันในวันนี้ ฯ

ธรรมดาเวลาพระเอกจะออกเดินทาง ก็ต้องมีบท”สั่งนาง” ซึ่งมักไปเปรียบเทียบกับสิ่งที่คู่กัน เช่น นกสั่งฟ้า ปลาสั่งน้ำ แต่คุณสุวรรณเธอให้สั่งสิ่งตรงกันข้ามที่เป็นไปไม่ได้ ไปซะงั้น

โอ้ว่าพระทูลกระหม่อมแก้ว
หนีเมียไปแล้วพระโฉมศรี
มิได้สั่งสนทนาพาที
สกุณียังรู้สั่งยมนา
จรเข้ยังรู้สั่งอากาศ
สิงหราชยังรู้สั่งมหิงสา
หัศรังยังรู้สั่งไอยรา
นาคายังรู้สั่งสุบรรณบิน
เหมราชยังรู้สั่งซึ่งคูหา
แต่มัจฉายังรู้สั่งไพรสินธุ์
พยัคฆ์ยังรู้สั่งมฤคิน
พระภูมินทร์ควรฤาไม่อาลัยลา ฯ

ในรามเกียรติ์ อินทรชิตแปลงกายเป็นพระอินทร์ และให้พลยักษ์แปลงกายเป็นเทวดานางฟ้า แต่คุณสุวรรณเธอเด็ดกว่า ตัวละครร้อยกว่าตัวแปลงกายให้อุตลุด แต่อ่านๆไปแล้ว เอ๊ะ! มันก็ยังเป็นตัวเดิมนี่หว่า แค่เลือกคำใหม่ที่มีความหมายเหมือนเดิมอย่าง ราเมศเป็นรามา พยัคฆา เป็น พยัคฆี…คิดได้ไงเนี่ย

จำจะยกโยธาคลาไคล

ตามองค์พระอภัยเชษฐา
ว่าพลางนางแปลงกายา
เป็นองค์สุดาเยาวมาลย์
รี้พลให้กลายเป็นโยธา
ไอยราแปลงเป็นคชสาร
พาชีแปลงเป็นอาชาชาญ
พระพรหมานแปลงเป็นท้าวธาดา
ไกรสรให้แปลงเป็นสิงหราช
สกุณชาติให้แปลงเป็นปักษา
พระราเมศแปลงเพศเป็นรามา
พยัคฆาแปลงเป็นพยัคฆี
พญาครุฑแปลงเป็นสุบรรณจร
วานรแปลงเป็นกระบี่ศรี
นาคาเป็นพญาวาสุกรี
โกสีย์แปลงเป็นท้าวหัสนัยน์
พระสุริยันต์นั้นเป็นทินกร
ศศิธรเป็นดวงแขไข
เจ้าพลายงามแปลงนามเป็นหมื่นไวย
ชาละวันนั้นให้เป็นกุมภา
พระอิศวรแปลงเป็นพระศุลี
ทรพีแปลงเป็นมหิงสา
เทเวศร์แปลงเพศเป็นเทวา
กินนราแปลงเป็นกินนรี
พญาหงส์แปลงองค์เป็นเหมราช
พระดาบศแปลงชาติเป็นฤาษี
โคกลายกายาเป็นคาวี
มฤคีแปลงเป็นมฤคา
มยุเรศกลายเพศเป็นยูงพลัน
ทสกัณฐ์นั้นแปลงเป็นยักษา
อุณากรรณนั้นเป็นบุษบา
ปันหยีแปลงกายาเป็นอาหยัน
ขุนแผนแผลงแปลงกายเป็นพลายแก้ว
สียาตราเพริศแพร้วเป็นหย้าหรัน
คนธรรพให้แปลงเป็นคนธรรพ์
นางพิมพ์กลายกายพลันเป็นวันทอง
ต่างตนสำแดงแผลงฤทธิ์
ทศทิศไหวจบสยบสยอง
โยธาเหลือหลายก่ายกอง
คับคั่งทั้งท้องสนามใน ฯ

นี่แค่จัดทัพยังปวดหัวขนาดนี้ ตอนรบกันจริงจะสับสนวุ่นวายขนาดไหน นี่เป็นตัวอย่าง ชัยเชษฐ์กล่าวหากุเรปันว่าไปลักพระรามมาไว้ลงกา จะตามมาฆ่าหนุมาน สุดท้ายจะให้ส่งเมรีคืน เอากะเขาสิ

เมื่อนั้น
ชัยเชษฐ์รัศมีศรีใส
ได้ฟังคั่งแค้นแน่นใน
ภูวนัยจึงมีวาจา
แล้วร้องท้าว่าเหวยกุเรปัน
ไยมึงอาธรรม์ริษยา
ทำฮึกฮักไปลักพระรามา
ไปไว้ลงกาธานี
นี่หากกูติดตามไม่ขามจิต
หวังจะล้างชีวิตกระบี่ศรี
แม้นรักตัวกลัวตายวายชีวี
จงเร่งส่งเมรีคืนมา ฯ

หรือจะเป็น ไกรทองผสมจันทโครพ คุณสุวรรณก็ทำได้

เมื่อนั้น
ท้าวอำไพได้ฟังดังเพลิงไหม้
รู้ว่าชาละวันบรรลัย
ภูวนัยพิโรธโกรธา
โจนจากรถแก้วแววไว
เข้าชิงชัยสัปยุทธยักษา
หมายจำนงชิงองค์โมรา
โจรป่าบั่นบุกเข้าคลุกคลี ฯ

บทต่อไป ใช้ทดสอบว่าอ่านวรรณคดีไทยมากี่เรื่องแล้ว

เมื่อนั้น
พระศรีสุทัศน์รัศมี
เห็นพระสุริยามาราวี
ขุนกระบี่เผ่นโผนโจนทะยาน
ทั้งสิบแปดมงกุฎวุฒิไกร
หมายใจจำนงจงผลาญ
ทั้งสิบรถรัถาพญามาร
ต่างหาญต่างสู้เป็นคู่กัน
อันพญากุศราชอาจอง
จับบุญทนาวงศ์แข็งขัน
พระณรงค์พิชัยใจฉกรรจ์
เข้าโรมรันด้วยท้าวศีลยนต์
วงศ์สุริยามาตย์อาจหาญ
เข้าต่อต้านด้วยท้าวสิงหล
องค์พระจันทโครบจบสกล
เข้าประจญต่อตีศรีสุวรรณ
ท้าวกรดสุริกานต์ชำนาญศร
เข้าต่อกรกระบิลนิลขัน
อันพระหลวิชัยใจฉกรรจ์
เข้าโรมรันสัปยุทธด้วยอุศเรน
พระสมุทโคดมเข้ากลมเกลียว
ลดเลี้ยวต่อสู้มูระเหน
เจ้าสาครคนสันทัดจัดเจน
จับได้สุรเสนวานร
ท้าวเสนากุฎยุทธทะยาน
เข่นฆ่าเวตาลชาญสมร
อันเจ้าลิขิตฤทธิรอน
สังหารพญาขร มรณา ฯ

หลังเหตุการณ์ชุลมุน สุดท้ายก็มีผู้ถูกศรพระราม แต่ดันกลายเป็นหนุมาน ที่แอบสั่งเสียทิ้งท้ายเลียนแบบทศกัณฐ์ว่า

เมื่อนั้น
วายุบุตรวุฒิไกรใจหาญ
ยี่สิบกรกุมศรพระอวตาร
สิบโอษฐ์สั่งสารสุวิญชา ฯ
ปากหนึ่งว่าโอ้เจ้าขวัญเนตร
บิตุเรศจะม้วยสังขาร์
ขอฝากฝังแก้วเนตรเกษรา
จงวันทาระเด่นมนตรี ฯ
ปากสองร้องว่าพิเภกเอ๋ย
กะไรเลยชั่งมาฆ่าพี่
ขอฝากนางดาราเทวี
กับสาวศรีนักสนมกำนัลใน ฯ
ปากสามสั่งความพระสมุทร
ขอฝากบุษมาลีศรีใส
โอ้พราหมณ์มัจฉายาใจ
หวังจะได้ฝากผีบิดร ฯ
ปากสี่ว่าโอ้องคต
โอรสจงจำคำสอน
ตั้งใจภักดีพระสี่กร
อย่าคิดว่าภูธรเป็นสามี ฯ
ปากห้าร้องว่านางเงือกน้ำ
จงฟังคำนับถือพระฤาษี
อุตสาห์รักษาครรภ์เทวี
แม่จะได้เป็นศรีจรกา ฯ
ปากหกว่าเจ้าตะเภาทอง
ทั้งสองอย่าคิดริษยา
อันองค์อุณากรรณกับสียาตรา
จงนึกว่าพี่น้องท้องเดียวกัน ฯ
ปากเจ็ดเสร็จสั่งจะสังขาร์
ชีวาพี่จะม้วยอาสัญ
ไปยื่นด้ามให้กับโจรใจฉกรรจ์
เลื่อมลายวรรณไยเป็นได้เช่นนี้ ฯ
ปากแปดวอนว่าทรงยศ
พระรถจงช่วยเผาผี
แม่จะเขียนมนต์เรียกมฤคี
ไว้กับคีรีให้ลูกยา ฯ
ปากเก้าเฝ้าสั่งพระอุณรุท
ทรงภุชเมียจะม้วยสังขาร์
น้องรักจักถวายบังคมลา
กลับไปอยู่คูหาในวารี ฯ
ปากสิบเสร็จคำที่ร่ำสั่ง
สิ้นกำลังด้วยพิษศรศรี
พราหมณ์ก็กลายกายาเป็นนารี
สิ้นชีวีอยู่ในไพรวัน ฯฯ

ที่มา: http://th.wikipedia.org/ , http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=vishnuvaruna&month=15-01-2006&group=4&gblog=2

Leave a Reply