คันคากรบพญาแถน สงครามตามล่าหาน้ำ

คันคากรบพญาแถน สงครามตามล่าหาน้ำ


(ซ้าย) กบตัวเดียวบนหน้ากลองทองมโหระทึก พบที่ ต. ท่าเรือ อ. เมือง จ. นครศรีธรรมราช (กลาง) กบซ้อนกัน 2 ตัว บนหน้ากลองทองมโหระทึก จากอุษาคเนย์ (ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่ The Shanghai Museum ป้ายจัดแสดงระบุว่าสร้างขึ้นเมื่อราว พ.ศ. 1000) (ขวา) กบซ้อนกัน 3 ตัว บนหน้ากลองทองมโหระทึก

เมื่อฝนแล้ง น้ำแห้งขอดหาย บรรพชนคนอุษาคเนย์ดึกดำบรรพ์ 3,000 ปีมาแล้ว มีพิธีขอฝนจากสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ ครึ่งน้ำครึ่งบก เช่น คันคาก หรือคางคก และกบ
[คันคาก เป็นคำลาวสองฝั่งโขง ตรงกับคางคกของไทย ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภาคกลาง]
เพราะสัตว์พวกนี้มักปรากฏตัวและส่งเสียงดังเมื่อฝนตกน้ำนองทั่วไป ให้ความเจริญงอกงามอุดมสมบูรณ์แก่ผู้คนทุกชนเผ่าที่มีหลักแหล่งอยู่เขตมรสุม แล้วทำนาทำไร่โดยอาศัยน้ำฝนจากธรรมชาติเท่านั้น เรียกนาทางฟ้า เพราะยังล้าหลังทางเทคโนโลยี
คนดั้งเดิมลุ่มน้ำโขง จึงผูกนิทานพญาคันคาก เพื่อเพิ่มพลังให้ชุมชนร่วมกันต่อสู้แก้ไขความแห้งแล้ง
ซึ่งเป็นวรรณกรรมคำบอกเล่าคลาสสิคสุดยอดที่สุดของตระกูลไทย-ลาว (แต่ไม่ได้รับยกย่องจากระบบการศึกษาไทย) จะสรุปย่อที่สุดมาไว้ดังนี้

คันคากรบแถน
พญาคันคาก มีร่างเป็นคางคก ได้เป็นพระราชาครองเมือง มีประชาชนพลเมืองเลื่อมใสมาก พระราชาบ้านเมืองต่างๆ ยกย่องสรรเสริญ
พญาแถน เป็นใหญ่บนฟ้า ควบคุมน้ำในก้อนเมฆให้ตกเป็นฝนลงดิน เพื่อชาวนาชาวไร่ปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหาร
เมื่อรู้ข่าวว่าพญาคันคากมีผู้ยกย่องมาก พญาแถนริษยาที่ประชาชนพลเมืองเลื่อมใส จึงไม่ปล่อยน้ำลงมาเพื่อให้ชาวนาชาวไร่เดือดร้อน เพราะฝนแล้ง จะได้เกลียดพญาคันคาก แล้วหันมาเลื่อมใสพญาแถน
พญาคันคากรู้ดังนั้น จึงระดมสมัครพรรคพวกซึ่งล้วนเป็นสิงสาราสัตว์สารพัดชนิดไปรบแถนเพื่อทวงน้ำฝน
โดยมอบให้ฝูงปลวกขนดินอับชื้นทำถนนหนทางขึ้นฟ้าเหมือนจอมปลวก
มีพญานาค (คืองู) เป็นนายทัพ เดินทัพไต่จอมปลวกขึ้นไปรบชนะพญาแถน แล้วปล่อยน้ำฝนจากฟ้าลงมาดินให้ประชาชนพลเมืองทำไร่ทำนาต่อไปตามปกติ
แล้วตกลงกันว่าชาวบ้านจะจุดบั้งไฟขึ้นฟ้าบอกแถนให้ปล่อยน้ำประจำทุกปี เป็นตำนานบั้งไฟ


(ซ้ายบน) คนกางแขนถ่างขาทำท่าคล้ายกบ หรือคางคก บนหัวมีขนนกประดับ นุ่งผ้าปล่อยชายยาวออกไป 2 ข้าง ภาพเขียนที่ถ้ำ (เขา) ผาแดง บ้านโป่งหวาย ต. ด่านแม่แฉลบ อ. ศรีสวัสดิ์ จ. กาญจนบุรี (ลายเส้นของกรมศิลปากร)
(ขวาบน) โพนดินจอมปลวก ชุมชนใกล้น้ำชี เดิมเป็นโพนสูงขนาดใหญ่ ต่อมามีต้นไม้ขึ้นอยู่บนโพน ชาวบ้านจึงขุดก่นส่วนบน-ยอด ของโพนลง เพราะมีต้นไม้ขึ้นร่มรื่น เป็นที่พักร้อนของคนและควายได้เป็นอย่างดี อยู่บ้านเขวากลาง ต. เขวาใหญ่ อ. กันทรวิชัย จ. มหาสารคาม (ถ่ายประมาณปี 2538-2539 โดย สมชาย นิลอาธิ มหาสารคาม)
(ซ้ายล่าง) จอมปลวก เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ชาวบ้านจึงทำหลังคาคุ้มกันให้ ใกล้คูเมืองโบราณนครปฐม อ. เมือง จ. นครปฐม
(ขวาล่าง) น้ำซำน้ำซับน้ำพุน้ำผุดจำนวนมาก ไหลรวมกันในแอ่งแล้วกลายเป็นหนองบึงขนาดใหญ่ เช่นภาพนี้ถ่ายจากหนองหานหลวง อ. เมือง จ. สกลนคร (ภาพโดย ประภัสสร์ ชูวิเชียร คณะโบราณคดี มหาวิทยลัยศิลปากร)

จอมปลวก มีตาน้ำ
นิทานพญาคันคากลุ่มน้ำโขงยกย่องให้ความสำคัญต่อปลวก ผู้สร้างจอมปลวก หรือโพนดินเป็นทางขึ้นฟ้า
“ตรงไหนมีจอมปลวก น้ำจะอยู่ใต้จอมปลวกนั้น เพราะปลวกจะไปคาบเอาดินที่มีน้ำขึ้นมาทำเป็นจอมปลวก”” ชาวบ้านแถบทุ่งกุลาร้องไห้ในอีสานเชื่ออย่างนั้น
จอมปลวกยังมีบทบาทสำคัญในนิทานเรื่องพระเจ้าสายน้ำผึ้ง ในพงศาวดารเหนือ ดังนี้
“ขณะนั้นหมู่เด็กเลี้ยงโคอยู่ ณ ทุ่งนา 47 คน เลี้ยงโคตำบลมีปลวกอันสูงใหญ่สูงศอกเศษ ตั้งตัวเป็นคนหนึ่งขึ้นว่าราชการบนจอมปลวกนั้น หมู่เด็กทั้งปวงหมอบราบอยู่เป็นนิจ จึงเป็นขุนอินทรเทพ ขุนพิเรนทรเทพ เป็นที่ขุนนางใหญ่ ว่าราชการบนปราสาทปลวก โกรธข้าราชการ สั่งให้เพชฌฆาตเอาไปฆ่าเสียด้วยไม้ขี้ตอกไปตัดศีรษะๆ นั้นก็ขาด เรียกว่า บ้านหัวปลวกแต่นั้นมา”
เด็กเลี้ยงวัวที่เล่น “ว่าราชการบนจอมปลวก” นี่แหละ ต่อมาได้รับเชิญเป็นกษัตริย์ คือ พระเจ้าสายน้ำผึ้ง ครองกรุงอโยธยาศรีรามเทพนคร (ก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยา)

จอมปลวก คือจอมดินศักดิ์สิทธิ์ จะเห็นว่าชาวบ้านมักกราบไหว้บูชา แล้วมีคำสั่งคำสอนเด็กๆ ว่าอย่าเยี่ยวรดจอมปลวก มิฉะนั้นกระเจี๊ยว หรือกระดอจะบวมโป่งพองเจ็บปวดรวดร้าวยาวนานถึงระเบิดเถิดเทิง
เหตุที่ยกความศักดิ์สิทธิ์ให้จอมปลวกถึงขนาดนั้น ก็เพราะจอมปลวกคือตาน้ำ แหล่งน้ำ ที่ชาวบ้านเรียกน้ำซึมน้ำซับน้ำผุดน้ำพุ
ตรงนี้แหละคืออำนาจ เพราะเป็นแหล่งน้ำเพื่อชีวิต พืชพันธุ์ธัญญาหารงอกงามอุดมสมบูรณ์ เป็นที่ตั้งชุมชนยุคดึกดำบรรพ์
ใครพบจอมปลวกก็เท่ากับพบแหล่งน้ำ คนนั้นย่อมเป็นเจ้าของ คือ “”เจ้า”” ของแหล่งน้ำนั้น กลายเป็นหัวหน้าเผ่าที่ภายหลังรับอารยธรรมจากชมพูทวีป คือพระเจ้าแผ่นดินหรือกษัตริย์ ดังเรื่องพระเจ้าสายน้ำผึ้งในพงศาวดารเหนือที่คัดมาเป็นพยาน
ตาน้ำใต้จอมปลวกนี่แหละ บางแห่งจะขยายขนาดออกเป็นบ่อน้ำ, บึงน้ำ, หรือหนองน้ำก็ได้ แล้วเป็นต้นเค้าคำว่า สยาม

สยาม ได้ชื่อนี้จากไหน?
สยาม มีรากจากคำพื้นเมืองว่า ซำ หรือ ซัม แปลว่าตาน้ำพุหรือน้ำผุดจากใต้ดิน ที่ให้ความเจริญงอกงามอุดมสมบูรณ์ จิตร ภูมิศักดิ์ อธิบายสรุปว่า
ซำ หรือ ซัม ในภาษาไตดั้งเดิม หมายถึงบริเวณน้ำซับน้ำซึมประเภทที่พุขึ้นจากแอ่งดินโคลน. (ยังมีอยู่ในภาษาลาวและผู้ไท)
เกิดขึ้นจากน้ำที่รากต้นไม้บนภูเขาหรือเนินดอนอุ้มไว้ แล้วซึมเซาะซอนใต้ดินมาพุขึ้นที่บริเวณที่ราบเชิงเขาหรือเนินดอน.
บริเวณที่พุขึ้นนั้นมีลักษณะเป็นบึงโคลนสีเหลือง ในภาษาลาวเรียกว่า ดูน. น้ำที่พุขึ้นจะดันโคลนหรือดูนขึ้นมาจนป็นโคลนเดือดปุดๆ พุพลั่งๆ อยู่ตลอดปีไม่มีแห้ง. มีปริมาณมาก ไหลเจิ่งซ่าไปตามทางน้ำหรือลำธาร, ลักษณะของน้ำใสสะอาด จืดสนิท.
ซำที่น้ำพุขึ้นนี้บางแห่งก็เป็นเทือกยาวมาก คือเป็นเทือกเขาที่ยาวหลายสิบกิโลเมตร และมีซำพุเป็นตอนๆ ทั้งสองด้านของเทือก บางแห่งก็เป็นแอ่งใหญ่โตราวกับบึง.
ซำเหล่านี้เป็นที่ชัยภูมิที่คนไต-ลาว ยึดเป็นที่ตั้งบ้านเมืองทำมาหากินโดยทั่วไป เพราะอาศัยน้ำได้แม้ฤดูแล้ง, คล้ายกับเป็นโอเอซิสของทะเลทราย.
บริเวณซำนั้น เป็นที่ดึงดูดคนไต-ลาวมาชุมนุมตั้งชมรมกสิกรรมมาก เพราะพื้นที่บริเวณนั้นทำนาได้ปีละสองหน, เป็นสวนอันอุดมและให้ผลดีมาก.
นาที่อยู่ติดกับซำนั้นเป็นนาดีถึงขนาดเรียกเป็นคำเฉพาะทีเดียวว่า นาคำ และน้ำที่ซึมออกมาจากซำนั้น ก็เรียกกันว่า น้ำคำ
ชื่อบ้านที่เรียกว่า บ้านซำ มีอยู่ทั่วไปทางภาคอีสานของไทยและในประเทศลาว และยังมีบริเวณที่เรียกว่า ซำ ต่างๆ ตามชื่อเฉพาะของแต่ละซำอีกมาก. ชื่อบ้านนาคำและบ้านน้ำคำ ก็มีอยู่ทั่วไปเช่นกัน.

ที่มา: จากหนังสือ ความเป็นมาของคำสยาม, ไทย, ลาว และขอม ฯลฯ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2519

Leave a Reply