บันทึกลับเจ้าพระยาบดินทร์เดชาฯ ตอน 6
โปรดเกล้าฯ ให้ พระยาราชสุภาวดี เป็นแม่ทัพใหญ่ฝ่ายตะวันออก
ทางเจ้าพระยานครราชสีมา เมื่อหนีออกจากเมืองขุขันธ์นั้นได้ไปตั้งพักพล ครัวสยามอยู่ในกลางป่า ครั้นรู้ว่าบ้านเมืองของตนเสียแล้วแก่เจ้าอนุ คิดจักยกกองทัพกลับมาสู้รบกับลาวบ้างก็ไม่ได้ เพราะคนในกองทัพของตนรู้ว่า บ้านเมืองแตกเสีย แก่ลาวแล้ว ไพร่พลจากเมืองราชสีมาที่หนีเข้าป่า ก็ตามมาพบครอบครัวมากนัก เหลืออยู่แต่คนที่สนิทติดตามหาตน อยู่ประมาณ สองร้อยเศษ น้อยตัวนักจักคิดกู้บ้านกู้เมืองคืนจากลาวล้วนคิดแต่หนีเอาตัวรอดไปกับครัวตน
เจ้าพระยานครราชสีมาหมดหนทางแก้ไข จึ่งพาไพร่พลแลครัวสยามหนีเลยต่อไปเถิงแดนเขมร พักพลอยู่ที่ตำบลสวายจีบ ซึ่งก็พอว่าจักหาอาหารตามพวกเขมรป่าดงได้บ้าง
ครั้นเจ้าพระยานครราชสีมาพักอยู่ที่สวายจีบนั้น ได้รู้ข่าวว่าเจ้าอนุได้ยกทัพออกไปจากเมืองราชสีมาแล้วบัดนี้ กองทัพกรุงเทพฯ ยกมามามายเข้าตั้งอยู่ในเมืองราชสีมา ก็ให้มีความยินดีนัก ดำริว่าต้องนำพลแลครัวสยามกลับไปหากองทัพ กรุงเทพฯ ที่เมืองราชสีมาจึ่งจักชอบด้วยราชการ เจ้าพระยานครราชสีมาจึ่งให้เร่งเดิรพลแลครัวสยามทั้งกลางวันกลางคืน มาเถิงเมืองราชสีมาก็เข้าเฝ้ากรมพระราชวังบวรฯ ๆ มีพระราชบัณฑูรดำรัสว่า ” ลาวมาตีเมืองโคราช กวาดต้อนพาครอบครัวสยามไปมาก มันเผาบ้านเมืองป่นปี้ยี่ยำระส่ำระสายดั่งสนี้ ให้เจ้าพระยานครราชสีมาอยู่รักษาเมื่อ เกลี้ยกล่อมราษฏรพลเมืองที่แนกฉานซ่านเซนไปอยู่ในป่าในดง ให้กลับมาอยู่ตามภูมิลำเนาเดิม แลจักได้จัดการตกแต่งบ้านเมืองให้บริบูรณ์ดั่งเก่าเถิด ท่านอย่าได้ติดตามไปในกองทัพเราเลย จงอยู่จัดการ บ้านเมืองราชสีมาให้ดีดั่งเดิม ”
ดั่งนั้น กรมพระราชวังบวรฯ จึ่งทรงมีพระราชบัณฑูรสุรสิงหนาท โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ พระยาราชสุภาวดี(สิงห์) เป็นแม่ทัพใหญ่ฝ่ายตะวันออก คุมพลทหารแปดพัน ๆ นี้ให้เกณฑ์ที่เมืองลาวด้วย ให้ยกไปตีเจ้าราชบุตรเมืองจำปาศักดิ์ พระยาราชสภาวดี(สิงห์) จึ่งถวายบังคมลาออกมาจัดทัพเดิรทางโดยเร่งด่วน โดยยกกองทัพไปทางเมืองสุวรรณภูมิ ด้วยตัวเมืองนั้น บริบูรณ์ด้วยเสบียงอาหาร แลเจ้าเมืองก็ไม่ยอมเข้าด้วยกับเจ้าราชบุตร แลเจ้าอนุ ทั้งเมืองสุวรรณภูมิก็เหมาะที่จักพักกองทัพใหญ่ได้
ครั้น พระยาราชสุภาวดี(สิงห์) เดิรทัพออกจากเมืองราชสีมา โดยตัดออกไปทางเมืองพิมาย พบกองทัพของ เจ้าโถง หลานเจ้าอนุ ตั้งค่ายรับอยู่ที่ตำบลสระแก้ว ไกลห่างจากเมืองพิมายทางสองวัน กองม้าขุนแผลงส้านควบกลับมาแจ้งความว่า ได้เหนค่ายลาวตั้งในป่าริมชายทุ่งสองค่าย พระราชสุภาวดีได้รู้ข่าวศึกดั่งนั้นแล้ว จังสั่งให้นายทัพนายกองตระเตรียมการ ยกเข้า ระดมตีค่ายเจ้าโถงสามชั่วโมงก็แตก ลาวตายบ้างหนีบ้างไปได้สยามจับได้บ้าง
พระยาราชสุภาวดีจึ่งได้ยกกองทัพจากเขตแดนเมืองพิมายต่อไป ก็หยุดพักพลตั้งค่ายที่เมืองขอนแก่นสองวัน จึ่งมี หนังสือฉบับหนึ่งใช้ให้เจ้าลาวที่เมืองขอนแก่น ขึ้นม้าเร็วรีบนำไปให้เจ้าอุปฮาดเวียงจันทร์ ซึ่งตั้งค่ายพักพลอยู่เมืองยะโสธร ในหนังสือนั้นมีใจความว่า ” เมื่อเจ้าอุปฮาดลงไปกรุงเทพฯ นั้น เจ้าอุปฮาดได้พูดไว้แต่ก่อนว่า เจ้าอนุจักเป็นกบถต่อกรุงเทพฯ สักคราวหนี่ง การนั้นสมจริงดั่งถ้อยคำเจ้าอุปฮาดแล้ว ครั้งนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็มีรับสั่ง ให้เรายกทัพมาปราบปรามเจ้าอนุซึ่งเ ป็นเสี้ยนหนามแผ่นดิน ดุจดั่งเจ้าอุปฮาดว่า ครั้งนี้สมคะเนแล้วให้เจ้าอุปฮาดกลับไปตีเมืองเวียงจันทร์ให้ได้ เราก็จักยกทัพหนุนเจ้าอุปฮาดไปด้วย จักได้ช่วยกันตีเวียงจันทร์ ให้แตกโดยเร็ว ทัพหลวงจักได้เสด็จพระราชดำเนินโดยสะดวก ความดีความชอบก็จักตกอยู่แก่เจ้าอุปฮาดเป็นมากมายฝ่ายเดียว จักได้เป็นบำเหน็จ มือมีชื่อเสียงไว้ชั่วฟ้าดิน เมื่อเจ้าอุปฮาดจักว่าประการใด ขอให้มีหนังสือตอบมาให้เรารู้ราชการโดยเร็วเถิด ”
เจ้าอุปฮาดเวียงจันทร์ได้รับหนังสือขณะอยู่กับบุตรเขยตน ซึ่งเป็นบุตรของเจ้าอนุอันนั่งอยู่ในที่อันใกล้ชิด จึ่งฉีกผนึกอ่านดูรู้ความทุกประการแล้ว จึ่งหัวเราะกลับพับหนังสือเข้าผนึกใหม่ สั่งให้ม้าเร็วในกองทัพรับไปส่งให้เจ้าอนุที่ค่าย ตำบลเขาสาร ในทันที
ที่เจ้าอุปฮาดทำดั่งนั้น ด้วยเป็นเพราะเหตุว่า เจ้าอุปฮาดเวียงจันทร์ได้พูดความดั่งว่ากับพระยาราชสุภาวดีครั้งที่ลงไปยังกรุงเทพ ฯ จริง ครั้นได้รับหนังสือเป็นความลับของตนมาฉีกผนึกอ่านต่อหน้าบุตรเขยซึ่งอยู่ที่นั่นด้วย เจ้า อุปฮาดเหนว่าความลับของตนปิดไว้ไม่มิดได้ จึ่งแกล้งทำเป็นว่าสยามนำชื่อเสียงของตนมาพูดเปล่า ๆ ตนไม่ได้พูดเลย จึ่งให้นำหนังสือ ฉบับนี้ไปมอบให้กับเจ้าอนุ พร้อมนั้นเจ้าอุปฮาดได้พูดกับบุตรเขยว่า ” หนังสือนี้เป็นความคิดแม่ทัพสยามใช้อุบายแกล้งว่าชื่อเรา จักให้เราแต กร้าวกันกับเจ้าอนุ” เจ้าอุปฮาดแกล้งพูดกลับความเสียหมด เพราะปราถนาจักไม่ให้บุตรเขยสงสัยว่า ตนเป็นใจเข้ากับฝ่ายสยามจริง ๆ กับ ทั้งจักรักษาตนอยู่ด้วย เพราะกำลังนี้เจ้าอุปฮาดยังอยู่ในระหว่างกลางศึกทั้งสองฝ่าย
ฝ่ายเจ้าอนุได้รับหนังสือจากเจ้าอุปฮาด แจ้งเนื้อความในหนังสือพระยาราชสุภาวดี ที่เจ้าอุปฮาดส่งขึ้นไปนั้น ก็มีความหวาดหวั่น สงสัยแม่ทัพนายกองของตัวเองว่า “ชะรอยจักมี ไส้ศึกอยู่ที่ไหนบ้างไม่แจ้ง ”
ฝ่ายพระยาราชสุภาวดีต้องคอยรับหนังสือตอบของเจ้าอุปฮาดเวียงจันทร์อยู่ช้านาน ไม่เหนตอบมา จึ่งได้ใช้ให้คนไปสืบดูอีกได้ข่าวว่าเจ้าอุปฮาดเวียงจันทร์เลิกทัพยกออกจากเมืองยะโสธรไปแล้ว ไปตั้งอยู่ที่เมืองหนองหาร ไม่รู้ การว่าจักไปทางไหน
พระยาราชสุภาวดีจึ่ง ยกทัพไปตีค่ายลาวที่เวียงคุก เพลาเดียวก็แตกหมด แล้วยกไปตีค่ายลาวของเจ้าราชวงศ์ เมืองยะโสธรที่เหลืออยู่นอกเมืองยะโสธร เจ้าราชวงศ์เมืองยะโสธรต่อสู้แข็งแรง แต่สู้รบกันอยู่สองวันค่ายที่ยะโสธรก็แตกสิ้น ทหารสยามจับได้ครอบครัวเจ้าราชวงศ์เมืองยะโสธร ซึ่งลงใจเข้าด้วยเจ้าอนุนั้น จับครอบครัวมาได้ ๑๖๐ คน พระยาราชสุภาวดีสั่งให้นำ ครัวลาวขบถนั้น ไปครอกไฟตายสิ้นทั้ง ๑๖๐ คน มิให้เหลือเชื้อขบถ
ฝ่ายกรมพระราชวังบวรฯ มีพระราชบัณฑูรสั่ง
ให้ พระยาจ่าแสนยากร ๑ พระยากลาโหม ๑ พระยานรานุกิจมนตรี ๑ พระยาณรงควิไชย ๑ เจ้าพระยามหาโยธา ๑ ทั้งห้าทัพรวมพลแปดพันสี่ร้อยคน พร้อมด้วยช้างม้าเป็นพาหนะ แลกระสุนดินดำเสร็จ ให้ยกล่วงหน้าขึ้นไป เป็นทัพหน้า ทางตำบลบ้านสามหมอ ให้ช่วยกันระดมตีค่ายลาวซึ่งตั้งอยู่ ณ ตำบลหนองบัวลำพูนั้นก่อน
ให้ พระองค์เจ้าขุนเณร คุมกองทัพพม่า ทวาย นักโทษ ที่โปรดให้ไปจากคุกนั้นสี่ร้อยหกสิบคน แต่งเป็นกองโจร ยกขึ้นไปช่วยทัพเหล่านั้นเข้าตีค่ายที่หนองบัวลำพูด้วย
ณ วันอังคาร เดือนหก ขึ้นหกค่ำ แม่ทัพหน้าทั้งห้าได้ยกเข้าตีค่ายทัพลาวที่บ้านหนองบัวลำพู
ฝ่ายพระยานรินทร์แม่ทัพลาวที่หนองบัวลำพูนั้น ได้ต่อสู้รบกับทัพสยามเป็นสามารถ ลาวสยามสู้รบกันทั้งกลางวันกลางคืนติดต่อกันสามวันสามคืน แม่ทัพสยามทั้งห้ากอง ก็ระดมกันพร้อมยกเข้าตี ค่ายลาวที่หนองบัวลำพูก็เถิงกาลแตกสิ้น แต่ ณ วันศุกร์ เดือนหก ขึ้นเก้าค่ำ ก่อนหน้าทัพหลวงกรมพระราชวังบวรฯ จักยกมาเถิงได้วันหนึ่ง
ณ วันเสาร์ เดือนหก ขึ้นสิบค่ำ กรมพระราชวังบวรฯ แม่ทัพหลวง เสด็จพระราชดำเนินยกออกจากเมืองราชสีมา ขึ้นไปตั้งค่ายหลวงพักพลอยู่ที่ตำบลน้ำเชิน ที่ค่ายเก่าเจ้าอนุมาตั้งแต่ก่อน
ณ วันจันนทร์ เดือนหก ขึ้นสิบสองค่ำ แม่ทัพสยามก็จับพระยานรินทร์แม่ทัพลาวได้ จำตะโหงก ส่งลงมาทูลเกล้าฯ ถวายยังทัพหลวง รับสั่งให้หลวงโยธาบริรักษ์ คุมตัวพระยา นรินทร์เข้าไปขังยังคุกในค่ายหลวง ก็แลกรมพระราชวังบวรฯ มีพระราช บัณฑูร สั่งให้พระยานคร แอบเข้าไปถาม พระยานรินทร์ ให้ดูเป็นความส่วนตัวว่า ” ตัวพระยานรินทร์เป็นแม่ทัพลาว มี ฝีมือกล้าหาญ มีน้ำใจองอาจสมควรเป็นแม่ทัพเอกได้ แต่ว่าที่ต้องเสียค่ายแก่สยาม ก็เพราะทแกล้วทหารไม่ตั้งอยู่ในความสามัคคีรสพร้อมเพรียงกัน เนื่องเพราะ มั นเป็นกบถด้วยเจ้าอนุบ้าง บ้างก็รบด้วยจำยอมเพราะใจยังภักดีต่อพระเจ้าแผ่นดินสยามบ้าง จึ่งแตกแยกเป็นฝักฝ่าย ท่านจึ่งรักษาค่ายตัวเองไว้ไม่ได้ บัดนี้ท่านก็ปราชัยแล้ว ถ้าจักสวามิภักดิ์ ต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทกษัตริย์สยามก็จักทรงมิเอาโทษท่านที่หลงผิดไป ด้วยทรงมีพระมหากรุณาชุบเลี้ยงผู้กล้าหาญ ดั่งเช่นท่านนี้ ”
พระยานรินทร์ตอบว่า ” เราเป็นชายชาติทหาร คำสบถไม่ทรยศต่อสหายที่ข้าได้ ให้ไว้กับเจ้าอนุ แม้ข้าจักรู้ภายหลังว่า ก่อกบถต่อพระเจ้าแผ่นดินสยาม ยิ่งทำให้ข้าละอายที่ได้ ทำการกบถเช่นนี้ แม้ข้าจักมีชีวิตต่อไปก็เป็นที่น่าละอายต่อฟ้า แม้ข้าจักมีฝีมือลือชาปรากฏ แต่ ข้าก็ไม่มีปัญญาหาความถูกแท้มิได้ อยูไปก็รังแต่จักเป็นที่ติฉินของคนรุ่นลูกหลาน ขอให้ฆ่าเป็นผี เสียดีกว่าอยู่เป็นคนให้อายฟ้าอายสหายเลย ”
พระยานคราก็นำคำพระยานรินทร์ ขึ้นกราบบังคมทูลกรมพระราชวังบวรฯ ๆ มีพระราชบัณฑูรดำรัสว่า ” มันสมเป็น ชายชาติทหารจริง เมื่อเขาต้องการก็ให้สนองเขาให้ตายสมเกียรติเยี่ยงแม่ทัพทหารเถิดอย่าให้ตายด้วยหอกดาบเลย ให้พระยาคชภักดีนำช้าง พรายพระที่นั่งแทงมันเสียให้ตายในวันนี้เถิด”
ทัพหน้าที่เข้าตีค่ายลาวครั้งนั้น ได้เสียพระยาเกียรตินายทัพรามัญตายคนหนึ่ง หลวงภักดีนุรักษ์ ๑ หลวงพิพิธสมบัติ ๑ หลวงรามัญพิทักษ์ ๑ สมิงปราบอังวะ ๑ สมิงราชเทวะ ๑ สมิงนราจรสุระ ๑ แต่ขุนหมื่นพันทนายไพร่สมที่กำลัง จักตายเท่าใดหาแจ้งไม่ เพราะไม่ได้รายงานเมื่อเพลารบนั้น
ครั้นแม่ทัพนายกองฝ่ายสยามตีค่ายลาวที่หนองบัวลำพูแตกหมดแล้ว จึ่งเดิรทัพขึ้นไปหมายจักยกเข้าตีค่ายลาว ที่ทุ่งซ่มป่อย ห่างกับค่ายเขาสารประะมาณร้อยห้าสิบเส้น
กรมพระราชวังบวรฯ จึ่งมีพระราชบัณฑูร ดำรัสโปรดเกล้า ฯ สั่ง
ให้ กรมหมื่นนเรศร์โยธี ๑ กรมหมื่นเสนีบริรักษ์ ๑ สองพระองค์นี้เป็นแม่ทัพหน้า คุมพลทหารสามพันคน
ให้ พระยาเสน่หาภูธร กับ พระยาวิสูตร์โกษา คุมพลทหารพันหนึ่งเป็นแม่ทัพหน้าของกรมหมื่นทั้งสอง ยกขึ้นไปตีค่าย ลาวที่ทุ่งซ่มป่อย
ให้ พระองค์เจ้าขุนเณรเป็นแม่ทัพนายกองโจร คุมพลพม่าทวายแลนักโทษเช่นเดิม
ให้ พระณรงค์สงคราม จางวางส่วยทอง เมืองราชสีมา เป็นนายทหารกองโจรร่วมไปกับพระองค์เจ้าขุนเณร ด้วยคุ้นเคยบัญชากันมาก่อน ให้คุมกรมการแลพลทหารเมืองราชสีมาห้าร้อยเข้าสมทบในกองทัพพม่าทวายด้วยรวมเป็นพันคนเศษ เป็นกองโจรเดินเท้าสกัดเล็ดลอดไปตามชายป่า คอยตีกองลำเลียงทัพลาวเวียงจันทร์ ซึ่งจักยกลงมาส่งเสบียงอาหารกันที่ค่ายซ่มป่อย อย่าให้ส่งเถิงกันได้เลยเป็นอันขาด
ให้ ท่านผู้หญิงโม้ เป็นนายกองคุมฝ่ายผู้หญิง แลกองเสบียง คอยส่งให้กองทหาร ทัพหน้าทัพหลวง ให้พร้อม อย่าให้ขาดได้ ด้วยชำนาญลัดเลาะในพื้นที่ ให้สมทบกับทหารกองโจรของพระณรงค์สงคราม
ครั้นได้พระฤกษ์แล้ว ฝ่ายกรมหมื่นทัพหน้าทั้งสองพระองค์ พระยา พระ หลวง นายทัพ นายกอง ทั้งหลายพร้อมกันถวายบังคมลายกกองทัพ
เมื่อเคลื่อนใกล้ค่ายลาวที่ทุ่งซ่มป่อย กรมหมื่นแม่ทัพทั้งสองพระองค์ จึ่งมีรับสั่งให้กองทัพหน้าทั้งห้ากอง ซึ่งยกล่วง หน้าขึ้นมาก่อน ให้ยกเข้าตั้งค่ายประชิดไว้หลายด้าน แลให้มีค่ายสีขุกรุกเฝือก ค่ายทุบทู ค่ายปิหลั่น แลทำบันไดหกพาดดอกไม้เพลิง ไฟพะเนียง ดวงพลุ ไว้จักได้ปล้นค่ายพร้อมเสร็จ
ฝ่ายเจ้าหน่อคำแม่ทัพใหญ่ที่ค่ายทุ่งซ่มป่อย ได้รู้ว่ากองทัพสยามยกขึ้นมามาก จึ่งปรึกษากับเชียงขวาว่า จักต้องจัดทัพใหญ่ไปตีค่ายประชิดสยามให้แตกเสียโดยเร็ว กำลังศึกสยามจึ่งจักย่อหย่อนลง แต่
ต้องจัดทัพลาวแยกออกเป็นห้ากอง จักได้ชัยชำนะแก่สยาม เจ้าหน่อคำจึ่งสั่ง
ให้ กองแก้ว เป็นแม่กองคุมพลทหารสี่พัน
ให้ กองคำ เป็นแม่กองคุมทหารสี่พัน รวมสองกองกำลังพลแปดพัน ให้ยกออกไปตีค่ายประชิดสยามให้แตกในสามชั่วยาม
ให้ พระยาแสนหาญ เป็นแม่กองคุมพลทหารฉกรรจ์สี่พันคน
ให้ พระยาน่านมือเหล็ก เป็นแม่กองคุมทหารสี่พัน รวมสองกองนี้เป็นพลแปดพันให้ยกไปเป็นกองอาทมาต ซุ่มทัพอยู่ในป่าสองฟากทาง ให้คอยสกัดตีทัพสยาม ซึ่งจักยกมาช่วยกันอย่าให้เถิงกันได้
ให้ พระยาเสือหาญ เป็นแม่กองคุมทหารสองพัน ยกไปรักษาหนองน้ำตามทางไว้ อย่าให้กองทัพสยามยกมาอาศัยน้ำที่ในหนองบึง สระลำธารใดได้เป็นอันขาด
ให้ ท้าวมหาวงศ์ กับ ท้าวพรหมภักตร์ เป็นแม่กองคุมพลทหารพันหนึ่ง ยกไปตัดต้นไม้สะทาง ที่สยาม จักมาให้ช้าลง ตัดเถาไม้เบื่อ ไม้เมาไปแช่ไว้ในน้ำ ห้วยคลองบางตามทางกองทัพใหญ่ของสยามจักยกพลตามขึ้นมาคราวหลัง อย่าให้ อาศัยน้ำตามทางได้เลย กับให้เก็บซากโคกระบือที่ตาย บรรทุกเกวียน บรรทุกต่างไปไว้ในบึงบ่อหนองลำธาร ห้วยคลองทุกตำบล ตลอดทางที่ทัพสยามจักผ่านขึ้นมายังทุ่งซ่มป่อยนั้น จงทุกทางเป็นท่าทางกีดกั้นนั้นไว้ให้ได้
ให้ พระยาไชยสงคราม กับ เพี้ยสุวรรณ แล ท้าวหมี ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ คุมกองทหารสองพัน รักษาค่าย ทุ่งซ่มป่อย
เจ้าหน่อคำ กับ เจ้าเชียงขวา จักยกกองทัพใหญ่ออกไปตีค่ายประชิดสยามให้แตกเสียให้จงได้ จักได้ตัดกำลัง ข้าศึกสยามให้เบาบางลง
ครั้นได้ฤกษ์ศึกแล้วเจ้าหน่อคำขึ้นม้าสีจันทร์ ผูกเบาะอานเครื่องพร้อมศึก มือถือหอกใหญ่ นำทัพ ให้พลทหารลาว ยกออก จากค่ายเป็นกระบวนใหญ่ไปตีค่ายที่ประชิด
กองทัพสยามนั้น พระยาเสน่หาภูธร แล พระยาวิสูตรโกษา แม่ทัพหน้าจึ่งยกพลทหารออกต้านทาน ต่อรบสัปะยุทธ ยิง แทงฟันกัน ทัพสยามกับทัพลาวสู้รบกันเป็นสามารถ ฝ่ายสยามนั้นมีไพร่พลน้อยกว่าลาวมาก แต่อุตส่าห์รองรับป้องกันค่ายประชิดไว้ได้ แต่เหลือกำลังที่จักต่อสู้กับทัพลาวกลางแปลง เพราะรี้พลน้อยเกรงจักเสียท่วงท่าแก่ทัพลาว จึ่งให้ล่าทัพถอยเข้าค่ายปีกกา ปิดประตูค่าย รักษามั่นไว้ แต่ได้ยิงปืนใหญ่โต้ตอบกับทัพลาวอยู่ในค่ายไม่หยุดหย่อน
พลลาวเหนได้ทีที่สยามหนีเข้าค่าย จึ่งยกกองทัพไล่ติดตามเข้าไปใกล้ค่ายสยาม ลาวไล่พลทหารตั้งเป็นปีกกาล้อมค่ายสยาม ไว้ทั้งสี่ด้าน แต่พอพ้นทางปืนใหญ่ยิงไปไม่เถิง ฝ่ายสยามยิงปืนใหญ่น้อยออกจากค่ายก็ไม่เถิงค่ายลาว พลลาวจักตีค่ายสยามก็ไม่ได้ จึ่งล่าถอยทัพกลับเข้าค่าย แต่สยามกับลาวรบกันอยู่หลายเพลาก็ไม่แพ้ชำนะแก่กัน ทัพลาวจึ่งขุดอุโมงค์ใต้ดินบังปืนใหญ่ จักเข้าตีค่าย สยามที่ล้อมไว้ให้แตกจงได้ ฝ่ายสยามในค่ายก็รักษาค่ายมั่นอยู่ทั้งกลางวันกลางคืน เพราะเป็นการจวนตัวไม่รู้ที่จักทำประการใด จึ่งส่ง ม้าเร็วแจ้งข่าวศึกไปยังกรมหมื่นนเรศร์โยธีแม่ทัพใหญ่ให้ทรงรู้
…ยังมีต่อ