บันทึกลับเจ้าพระยาบดินทร์เดชาฯ ตอน 1
บันทึกลับการสงครามศึกเวียงจันทร์
๑. ปฐมเหตุ ศึกเจ้าอนุวงศ์-เวียงจันทร์
เดิม เจ้าอนุวงศ์ เจ้าเมืองเวียงจันทร์ ลงมาช่วยในการพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ณ กรุงเทพฯ ครั้นเจ้าอนุวงศ์จักกลับขึ้นไปเวียงจันทร์ จึ่งได้เข้าไปกราบทูลถวายบังคมลาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ(ขณะนั้นทรงกรม เป็นพระราชวังบวรฯ) แล้วเจ้าอนุกราบบังคมทูลพระกรุณา ขอพระราชทานพวกหม่อมละครเล็ก ๆ ผู้หญิงข้างในซึ่งเป็นละครชั้นเล็กในรัชกาลที่ ๒ นั้น กับขอพระราชทานเจ้าคำลาว ชาวเวียงจันทร์ซึ่งตกมาแต่ครั้ง พระเจ้าตากกรุงธนบุรีนั้นด้วย พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ไม่พระราชทานให้ตามเจ้าอนุ ขอสักอย่างเดียว
ฝ่ายเจ้าอนุไม่ได้สมตามความปราถนา จึ่งมีความอัปยศแก่ข้าราชการแลทูตนานาประเทศ เป็นอันมาก จึ่งบังเกิดความโทมนัสขัดเคืองเป็นกำลัง ด้วยไม่สมประสงค์ที่ตนปราถนาแต่สักอย่างหนึ่ง จึ่งได้คิดอาฆาตต่อกรุงเทพตั้งแต่วันนั้นไปเจ้าอนุข้ามมาหาเจ้าฟ้าพระที่วัดสมอราย ถูกอัชฌาสัยเกลอกันดีกับบาดหลวงทั้งหลายเป็นยิ่ง การพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ไม่พระราชทานให้ตามเจ้าอนุขอนั้น เจ้าอนุมิได้กล่าวใดคงจำนิ่งทนไปจนจักได้โอกาส จักได้ทำร้ายแก่กรุงเทพฯ สักคราวหลังกลับขึ้นไปเวียงจันทร์ก่อน
ก็การลงมากรุงเทพฯ ของเจ้าอนุนี้ ได้พาเจ้าอุปฮาดเวียงจันทร์ลงมาพร้อมกัน ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าอุปฮาดพักอยู่กับพระยาราชสุภาวดี ต่างก็สนิทสนมกลมเกลียวเป็นเกลอกันดี จนรู้เหตุเจ้าอนุขัดเคืองใจต่อพระนั่งเกล้าฯ อาฆาตแค้นใจใคร่คิดกบถ พระยาราชสุภาวดีเลี้ยงสุราอาหารเจ้าอุปฮาดเวียงจันทร์ เมื่อกินเมากันได้ที่เจ้าอุปฮาดเวียงจันทร์ก็เผยความลับของเจ้าอนุแก่พระยาราชสุภาวดีว่า “เจ้าอนุคิดจักกบถต่อกรุงเทพฯ เมื่อกลับไปบ้านเมือง ก็จักรวมพลลงมาตีกรุงเทพฯ ล้างอาย ในครั้งนี้เราสองคนยังเป็นสหาย ภายหน้าเราคงต้องเข่นฆ่าเป็นสัตรูกัน” พระราชสุภาวดีฟังเจ้าอุปฮาดเวียงจันทร์เช่นนั้น ก็พูดปัดป่ายเปลี่ยนเรื่องเสียเป็นทางอื่น
ในปีระกา สัปตศก จุลศักราช ๑๑๘๗ เดือนสี่ ปีนั้น เจ้าอนุกราบถวายบังคมลา ยกรี้พลกลับขึ้นไป บ้านเมืองเวียงจันทร์ ครั้งนั้น เจ้าอนุไม่ได้ลาเจ้านายขุนนางผู้ใหญ่ แลท่านเสนาบดีเลยสักแห่งเดียว เพราะมีความขุ่นเคืองกับกรุงเทพฯ เหตุดั่งนี้ก็เป็นที่สำแดงแห่งกริยาของเจ้าอนุว่าโกรธแก่สยามได้แน่แล้ว
ฝ่ายเจ้าอนุ ตั้งแต่กลับมาจากกรุงเทพฯ ขึ้นไปเถิงเมืองเวียงจันทร์แล้ว ก็คิดตรึกตรองที่จักมาประทุษ ร้ายตีกรุงเทพมหานครมิได้เว้นเลย อยู่มาวันหนึ่งเจ้าอนุสั่งแสนท้าวพระยาลาว ที่เป็นขุนนางผู้ใหญ่ ให้มาประชุมพร้อมกันในท้องพระโรง เป็นหลายนาย แล้วให้เชิญเจ้าอุปฮาด๑ เจ้าราชวงศ์๑ เจ้าสุทธิสาร๑กับเจ้าบุตรหลานผู้ใหญ่ ที่ชำนาญในการศึก สงครามมา พร้อมกันที่ประชุม พร้อมด้วยเพี้ยกวานแม่ทัพใหญ่ด้วย เจ้าอนุจึ่งปรึกษาว่าดั่งนี้ ” ทุกวันนี้ที่กรุงเทพมหานคร มีแต่เจ้านายเล็ก ๆ หนุ่ม ๆ ที่ไม่ชำนาญในการทัพศึกเลย แต่ขุนนางผู้ใหญ่ ก็มีน้อยตัวแล้ว ฝีมือทัพก็อ่อนแอ เพราะเว้นว่างการศึกมาช้านาน เจ้านายขุนนางที่ชำนิชำนาญในการทัพศึก เคยทำสงครามกับพม่ามีชัยมานั้น ก็ล้มหายตายจากกันไปหมดไม่มีตัวแล้ว กรุงเทพฯ ทุกวันนี้ก็หย่อนกำลังลงกว่าแต่ก่อนมาก
อนึ่ง เดี๋ยวนี้เจ้าพระยานครราชสีมาก็ไม่อยู่ที่บ้านเมืองราชสีมา เพราะไปขัดตาทัพอยู่ไกลบ้านเมืองเขา ตามหัวเมืองรายทางก็ไม่มีที่กีดขวางเลย การเป็นทีเราหนักหนาแล้ว ไม่ควรเราจักเป็นเมืองขึ้นกับกรุงเทพมหานครต่อไป
อนึ่ง อีกไม่นานทัพเรือพวกบาดหลวง แลอังกฤษก็จักมารบกวนปากน้ำกรุงเทพฯ ในช่วงน้ำนี้เหนเป็นทีเราหนักหนา น่าที่จักยกทัพใหญ่ลงไปตีกรุงเทพฯ ก็เหนจักได้โดยง่าย เพราะเราจักเป็นทำกระหนาบทัพอังกฤษ ๆ เป็นทัพหน้าอยู่ปากน้ำ สยามก็จักพะว้าพะวัง ทั้งข้างหน้าข้างหลัง คงจักเสียท่วงทีแก่เราเป็นมั่นคงไม่สงสัย เจ้านายขุนนาง เพี้ย ท้าวผู้ใหญ่จักเหนเป็นอย่างไรบ้างให้ว่ามา ? ”
ขณะนั้นเจ้าอุปฮาด ผู้ประกอบไปด้วยปัญญาอันสุขุม จึ่งว่าขึ้นในที่ประชุมดั่งนี้
” กรุงเทพมหานครเป็นบ้านเมืองใหญ่โตนัก มีพลเมืองมากมาย มาทแม้นเราตีได้แล้วเราจักไปตั้งปกครองบ้านเมืองอยู่ที่กรุงเทพฯ นั้นจักได้แล้วฤๅ เกรงไพร่พลเมืองจักคุมกันลุกขึ้นเป็นขบถต่อเรา เราก็จักระงับเมื่อภายหลังได้ยาก เพราะพลเมืองราษฏรไม่เต็มใจรักใคร่นับถือด้วยต่างชาติกัน สยามก็จักเป็นเสี้ยนหนามศตรูเราเสมอไม่หยุด เหมือนเรานอนอยู่บนขวากหนามทุกวัน ”
ฝ่ายเจ้าอนุ ได้ฟังดั่งนั้นก็โกรธจึ่งตอบไปว่าดั่งนี้
” ถ้าเราตีกรุงเทพฯ ได้แล้วเหนจักตั้งรักษาบ้านเมืองไม่ได้ จักมีภัยแล้ว เราก็จักกวาดต้อนพาครอบครัว พลเมืองที่ฉกรรจ์ดีดี อพยพขึ้นมาไว้ในบ้านเมืองเรา แล้วเราก็จักเก็บสรรพพัสดุเงินทองสิ่งของในท้องพระคลัง แลททรัพย์เศรษฐีคหบดีขุนนาง ผู้ใหญ่ผู้น้อยแลราษฏร บรรทุกโคต่างช้างม้าขั้นมาไว้ในบ้านเมืองเรา ๆ ก็จักสมบูรณ์ยิ่งขึ้นไปกว่าเก่าหลายพันเท่า แล้วเราก็จักแต่งกองทัพ ไปรักษาด่านทางช่องแคบ ที่เป็นท่าทางสยาม จักขึ้นมารบกวนบ้านเมืองเรา เราก็จักรักษาให้แข็งแรง ทุกช่อง ทุกทาง พวกสยามที่จักคิดติดตามขึ้นมา ทำศึกกับเราก็ยาก เพราะทางที่จักส่งเสบียงอาหารกันนั้นเป็นทางไกลกันดาร เถิงมาทว่าสยามจักคิดขึ้นมาทำศึกแรมปีกับเรา เราก็ไม่กลัว เพราะ ทางไปมายากแสนลำบากนักไม่เหมือนเราลงไป เพราะเราเป็นชาวป่าไม่กลัวการยากลำบากเดิรป่า พวกสยามจักขึ้นมาทำอะไรกับเราได้
เราคิดเป็นศึกรีบเร่งเร็ว ลงไปตีก็จักได้โดยง่าย ซึ่งอุปฮาดคิดกลัวสยามไปต่าง ๆ นานานั้น ก็เพราะความขลาดกลัว สยามฝ่ายเดียว แต่เราหากลัวไม่ ให้จงเร่งจัดกองทัพเถิดเราจักลงไปเอง”
อนึ่งเมื่อเจ้าอนุ ผู้ปกครองเวียงจันทร์นั้นได้ปรึกษาหารือกัน ตกลงกับเจ้านายขุนนางนั้นแล้ว เจ้าอนุ จึ่งมีรับสั่งใช้ให้เจ้าอุปฮาด คุมกองทัพใหญ่ ยกไปเกลี้ยกล่อมหัวเมืองลาวซึ่งขึ้นอยู่กับกรุงเทพฯ ตามฝั่งน้ำโขงนั้น ๑๐ หัวเมือง คือ เมืองกาฬสินธุ์๑ เมืองร้อยเอ็ด๑ เมืองสุวรรณภูมิ๑ เมืองชนบท๑ เมืองขอนแก่น๑ เมืองสุรินทร์๑ เมืองสังขะ๑ เมืองขุขันธ์๑ เมืองอัตตะปือ๑ เมืองชุมพร๑ แต่บัดนั้น
เจ้าอุปฮาดจึ่งยกทัพใหญ่ไปตามรับสั่ง ยกไปเถิงเมืองกาฬสินธุ์ก่อน ได้พูดจาเกลี้ยกล่อมเจ้าเมืองกาฬสินธุ์ ๆ ไม่ยอมเข้าด้วย เจ้าอุปฮาด ๆ ก็สั่งให้ทหารจับตัวเจ้าเมืองกาฬสินธ์ฆ่าเสีย นำหัวไปเสียบประจานไว้ที่หน้าเมืองให้ราษฏรดู ฝ่ายเจ้าเมืองทั้งไพร่พลเมือง ใกล้เคียง เมื่อได้รู้ความดั่งนั้น ก็กลัวอำนาจเจ้าอุปฮาด จึ่งได้ยอมเข้าด้วยกับเจ้าอุปฮาดหลายเมือง แต่เมืองสุวรรณภูมินั้น เจ้าศรีวอ ฝีมือทัพแข็งแรง ตั้งการรักษาบ้านเมืองไว้ได้ไม่ยอมเข้าด้วยเจ้าอุปฮาด จึ่งรอดไปเมืองเดียว
ฝ่ายเจ้าอุปฮาดก็ให้ทหารกวาดต้อนครอบครัวชาวเมืองที่ยอมเข้าด้วยนั้น พาขึ้นไปเมืองเวียงจันทร์บ้าง คงไว้รักษาเมืองบ้าง เล็กน้อย เจ้าอุปฮาดเก็บสิ่งของทรัพย์สมบัติตามหัวเมืองที่ตีได้นั้น มารวบรวมไว้ในกองทัพของตนแล้ว ก็ตั้งทัพรั้งรออยู่ที่ริมฝั่งน้ำโขง
เจ้าอนุทำหนังสือรับสั่งไปเถิงเจ้าราชบุตร เจ้าเมืองนครจำปาศักดิ์ผู้บุตร ให้ไล่ต้อนครอบครัวพลเมืองเขมราฐ เมืองอุบลราชธานี เมืองศรีษะเกษ เมืองเดชอุดม เมืองยะโสธร ขึ้นไปไว้ที่เมืองเวียงจันทร์ เมื่อแล้วให้เจ้าราชบุตรรีบยกกองทัพใหญ่ลงไปพร้อมกันกับทัพ เจ้าอนุ ช่วยตีเมืองราชสีมาให้เถิงพร้อมกันตามกำหนด
เจ้าราชบุตรได้แจ้งในหนังสือรับสั่งของบิดาดั่งนั้นแล้ว จึ่งยกกองทัพไปไล่ต้อนครอบครัว พลเมืองทั้งหกได้มากก็ให้แม่ทัพคุมไล่ ต้อนครอบครัวนั้น ๆ ขึ้นไปไปไว้ที่เมืองเวียงจันทร์ แล้วเตรียมกองทัพจักยกไปพร้อมบิดา
ภาพพระธาตุในนครเวียงจันทร์(สภาพปัจจุบัน)
……………………………………
ฝ่ายที่ในเมืองเวียงจันทร์นั้น เมื่อจักมีลางใหญ่เกิดขึ้น เมื่อ ณ วันเพ็ญวิสาข เดือนหก ปีจอ อัฐศก เพลากลางวัน เกิดลมพายุใหญ่พัดช่อฟ้าใบระกาหางหงส์ เครื่องหลังคาหอพระแก้วมรกต หอพระบางหักทำลายไปมาก ทั้งตำหนักเจ้าอนุ ที่เป็นสถานที่ อยู่ใหญ่โตนั้นก็หักพังทลายหลายหลัง ทั้งเรือนหม่อมห้ามเจ้าอนุก็หักพัง ๕ หลัง ในวันเกิดพายุใหญ่นั้น เรือนราษฏรในเมืองนอกเมือง หักพังทำลายลงสิ้น ๕๐ หลัง ๖๐ หลังเรือนเศษ
ครั้น ณ วันศุกร เดือนสิบเอ็ด ขึ้นสิบสี่ค่ำ ปีจอ อัฐศก เมื่อกำลังที่เจ้าอนุเกณฑ์กองทัพมา ได้ประชุมพลที่เมือง เวียงจันทร์ ได้บังเกิดอาเพศดาวพฤหัสบดีกลับขึ้นทางทิศทักษิณ(ทิศใต้) กับเมื่อเพลาดึกสองยามเศษ ได้เกิดแผ่นดินไหวเป็นมหาโกลาขึ้น ในเมืองเวียงจันทร์ ถ้วยชาม สิ่งของ รูปพรรณ กระทบกันแตก
ครั้นรุ่งขึ้น ณ วันเสาร์ เดือนสิบเอ็ด ขึ้นสิบห้าค่ำ เพลาเช้า เหนแผ่นดินแยกออกไป ทลุเข้าไปในกำแพง จรดท้ายเมืองเวียงจันทร์ ที่แผ่นดินแยกนั้นกว่างศอกเศษ ลึกเส้นเศษ
ขุนนางทั้งหลายอันเป็นเหตุอาเพท จึ่งทูลเจ้าอนุ ๆ ให้หาโหรมาทำนายว่าดีฤๅร้ายประการใด จักยกทัพไป กรุงเทพจักอัปราชัยฤๅจักมีชัย ให้โหรทายมาทักมาแต่ที่จริง
โหรคำณวณตามตำหรับแล้วทายว่า “เหตุอาเพทนี้ร้ายแรงนัก ถ้าจักยกกองทัพไปทำสงครามที่ใด ๆ จักพ่ายแพ้ อัปราชัย ตามกำลังวันที่เหตุบังเกิดขึ้นนี้ ”
เจ้าอนุวงศ์ได้ฟังคำโหรทำนายว่าร้ายนัก ก็โกรธขัดเคืองโหรว่าแกล้งทำนายให้ร้ายจักได้ไม่ยกไป พวกบุตรหลาน โหรจักไม่ได้ไปทัพ ตรัสเท่านั้นแล้วจึ่งสั่งให้ทหารจับตัวโหรไปฆ่าเสีย เจ้านายขุนนางผู้ใหญ่ทูลทัดทานห้ามปรามเป็นหลายครั้ง แล้วทูล ขอโทษโหรไว้ไม่ให้ฆ่า โหรจึ่งรอดตาย
ในวันเสาร์ เดือนสิบเอ็ด ขึ้นสิบห้าค่ำ นั้น เจ้าอนุจัดกองทัพพร้อมแล้ว พอเกิดเหตุลางต่าง ๆ จึ่งได้ย้ายรี้พล ข้าม น้ำโขงมาตั้งประชุมพลอยู่ที่ตำบลบ้านพันพร้าว ๆ อยู่ตรงหน้าเมืองเวียงจันทร์ข้าม ตั้งทัพชัยอยู่ที่พันพร้าวหน้าวังเจ้าอุปฮาด เจ้าอนุให้ แม่ทัพนายกองฝึกหัด ซ้อมทหารด้วยเพลงอาวุธต่าง ๆ ทั้งทหารช้าง ทหารม้า แลทหารเดิรเท้าหลายหมื่นฝึกหัดอยู่ที่นั้นสามเดือนครึ่ง จนชำนิชำนาญ
พอเถิงเดือนยี่ แรมสิบสามค่ำ ปีจอ อัฐศกจุลศักราช ๑๑๘๘ ปี ได้มหาอุดมฤกษ์ดีศรีไชยมงคล เจ้าอนุวงศ์ให้เจ้า ราชวงศ์เป็นแม่ทัพหน้าถืออาญาสิทธิ์ คุมพลทหารห้าพันยกล่วงหน้าลงมาก่อนแต่ ณ เดือนยี่ เจ้าราชวงศ์ยกลงมาเถิงเมืองราชสีมา
ณ เดือนสาม แรมสามค่ำ ตั้งทัพประชุมพลอยู่นอกเมือง ด้านเหนือ ที่ศาลาเกวียน เป็นทางแยกสามแพร่ง เพราะจักได้ระวังรักษา เหตุการณ์ได้ง่าย
เจ้าราชวงศ์ได้ให้แสนสุริยพหล คุมทัพพันหนึ่ง ไปทำทางที่ในดงพระยาไฟให้ดี ทัพหลวงบิดาจักได้มาได้ โดยง่าย
เจ้าราชวงศ์ใช้ให้เพี้ยเมืองซ้ายไปในเมืองราชสีมา ขอเบิกข้าวในเมืองนคราชสีมามาเลี้ยงไพร่พลจักลงไป กรุงเทพฯ
ขณะนั้นเจ้าพระยานครราชสีมาไม่อยู่ ไปราชการเมืองขุขันธ์บุรีนานแล้ว พระยาพรหมยกกระบัตร กรมการผู้ใหญ่ออกมาถาม เจ้าราชวงศ์ว่า ” ท่านยกช้างม้ารี้พลลงมามาดั่งนี้ จักลงไปกรุงเทพฯด้วยเหตุใด”
ฝ่ายเจ้าราชวงศ์แกล้งกล่าวกลอุบายตอบว่า ” ข้าหลวงที่กรุงเทพฯ เชิญศุภอักษรขึ้นไปทางดงพระยากลาง เดิรขึ้นไป เวียงจันทร์ แลเมืองหลวงพระบาง แลเมืองน่าน เพราะได้มีข่าวทัพเรืออังกฤษ จักมาตีกรุงเทพฯ เจ้าย่ำกระหม่อมก็เสด็จลงมาด้วยตั้งทัพอยู่ที่ ตำบลน้ำเชิน อีกสักสองสามวัน เจ้าย่ำกระหม่อมก็จักเสด็จมาเถิงเมืองราชสีมา”
ฝ่ายพระยาพรหมยกกระบัตรแลกรมการ ได้ฟังเจ้าราชวงศ์ว่าดั่งนั้น ก็ต้องจ่ายข้าวให้เพราะว่าเขาพูดจาเป็นราชการอยู่ จึ่งจ่ายข้าวให้ลาวไปจับจ่ายแจกกัน
ฝ่ายเจ้าราชวงศ์เบิกข้าวได้พอเลี้ยงรี้พลในกองทัพแล้ว จึ่งสั่งให้เพี้ยเมืองขวากับเซียงใต้ คุมพลทหารสองพัน ยกกองทัพล่วงหน้าลงมายังเมืองสระบุรีก่อน แลสั่งให้ท้าวมณี ท้าวพรหมสองคน คุมกองทัพสองพันอยู่รักษาที่ทำเนียบนอกเมือง นครราชสีมา เพราะที่ทำเนียบนั้นตั้งใหญ่โตไว้เพื่อจักสำหรับรับเจ้าย่ำกระหม่อม เสด็จมาประทับที่นั้น
แล้วเจ้าราชวงศ์ก็คุมพลทหารสามพันหกร้อย เดิรทัพตามลงมาตั้งทัพอยู่ที่ตำบลขอนขวาง แต่ ณ วันเดือนสาม แรมเก้าค่ำ ปีจอ อัฐศก
เพี้ยเมืองขวา กับ เซียงใต้กับนายทัพนายกองที่ยกล่วงลงมาก่อนนั้น จึ่งพาพระยาสุราราชวงศ์เจ้าเมืองสระบุรี ซึ่งเป็นลาว พุงดำ๑ กับหลวงปลัด๑ กองคำ๑ กองสิง๑ กองเซียง๑ สี่นายนี้เป็นลาวเวียงจันทร์เก่า ตกเข้ามาแต่ช้านาน นายทัพนายกองพา พวกลาวเมืองสระบุรีห้าคน มาหาเจ้าราชวงศ์ที่ตั้งทัพอยู่ที่ขอนขวาง เจ้าราชวงศ์ว่ากับลาวสระบุรีทั้งห้านายว่า “บัดนี้ได้ข่าวว่าทัพญวณ แลทัพเรืออังกฤษจักยกทัพมาตีกรุงเทพฯ พวกเจ้าอย่าอยู่เลยจักได้รับความลำบาก จงขึ้นไปอยู่เสียที่เมืองเวียงจันทร์จักมีความสุขด้วยกัน”
ฝ่ายพวกลาวสระบุรีทั้งห้านาย ได้ฟังดั่งนั้นก็มีความยินดี ยกมือขึ้นไหว้กราบ ยอมสมัครจักขึ้นไปด้วย เจ้าราชวงศ์ ๆ จึ่งสั่งว่า “ครอบครัวใคร ๆ ก็คุมขึ้นมาเถิด”
ฝ่ายเจ้าอนุกับเจ้าสุทธิสารผู้บุตรใหญ่ ได้ฤกษ์ดีแล้วก็ยกทัพออกจากตำบลที่น้ำเชิน ดำเนินกองทัพมาตามทางที่เจ้า ราชวงศ์ทำไว้นั้น จนเถิงชานเมืองราชสีมา ณ วันเดือนสาม แรมหกค่ำ เพลาบ่ายสามโมง เจ้าอนุพักแรมอยู่ในทำเนียบที่เจ้าราชวงศ์ ทำไว้แต่ก่อนนั้น
ครั้นรุ่งขึ้นเจ้าอนุมีรับสั่งให้แสนท้าวพระยาลาว นายทัพนายกองทั้งหลายเร่งรี้พลไปตัดไม้ตั้งค่ายใหญ่ อยู่ที่ ตำบล ทะเลหญ้า ฝ่ายทิศตะวันออกนอกเมืองราชสีมา ตั้งค่ายเป็นเจ็ดค่าย ชักปีกกาสนามเพลาะ พร้อม ตามตำราพิไชยสงครามโดย “นาคนาม” เจ้าอนุใช้ให้คนเที่ยวพูดให้เกิดกิติศัพท์แซ่ไปว่า ” รี้พลเวียงจันทร์ยกมาครั้งนี้เถิงแปดหมื่นบ้าง เก้าหมื่นบ้าง แสนหนึ่งบ้างต่าง ๆ กัน ”
ครั้งนั้น เจ้าพระยานครราชสีมาไม่ได้อยู่ที่บ้านเมือง ด้วยมีท้องตราพระราชสีห์โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยานครราชสีมายกกองทัพขึ้นไประงับการ ที่พระยาไกรสงครามเจ้าเมืองขุขันธ์บุรี วิวาทกันกับหลวงยก กระบัตรผู้น้อง เกิดรบราฆ่าฟันกันขึ้น เพราะเหตุ นั้นคนจึ่งมีรักษาเมืองแต่น้อย เพราะไปกับเจ้าพระยานครราช สีมาแต่ก่อนนั้นมากแล้ว อนึ่งพระยาปลัดแลกรมการ ผู้คนไป กับเจ้าพระยานครราชสีมาเป็นอันมาก ที่เมืองนั้นมีแต่กรมการผู้น้อย กับผู้คนก็มีน้อยนัก
ฝ่ายเจ้าอนุสั่งให้คนไปหาตัวพระยาพรหมยกกระบัตร ๆ ก็กลัวต้องออกมาหาเจ้าอนุที่ค่ายใหญ่ เจ้าอนุว่ากับพระยา พรหมยกกระบัตรแลกรมการว่าดั่งนี้ ” เจ้าพระยานครราชสีมาประพฤติเป็นพาลทุจริตติดสันดานหยาบ ตั้งแต่เบียดเบียนไพร่บ้านพลเมือง ให้ได้ รับความเดือดร้อนมาช้านาน เมื่อเจ้าอนุไปมาทางนี้มีผู้มาร้องทุกข์มิได้ขาด บัดนี้ให้พระยาพรหมยกกระ บัตรแลกรมการทั้งหลาย ตระเตรียมครอบครัว ของตนให้เสร็จในสี่วัน จักได้ยกขึ้นไปอยู่ด้วยกันที่เมืองเวียงจันทร์แล้วเราจักลงไปตีกรุงเทพฯ ให้ได้ในคราวนี้ ท่าน ทั้งหลายอย่าอยู่ที่นี่เลยรีบเร่ง ไปด้วยกันเถิด”
เมื่อเจ้าอนุพูดดั่งนั้น พระยาพรหมยกกระบัตรกลัวอำนาจเจ้าอนุ ไม่รู้จักคิดแก้ไขประการใด ก็ต้องทำกิริยาเป็นที่ยินดีพูดว่า “อยากจักได้ตามเสด็จเหมือนที่รับสั่งนั้นแล้ว” แล้วพระยาพรหมยกกระบัตรจึ่งทูลลาเจ้าอนุว่า “จักไปต้อนครอบครัวในเมือง”
แล้วจึ่งจัดหาหญิงที่มีรูปงามได้หกคนคือ บุตรหลวงนา๑ แลบุตรจีนบ้างมาให้เจ้าอนุในค่ายค่ำวันนั้น เจ้าอนุก็มีใจยินดีด้วย ผู้หญิงมาก เพราะเป็นคนแก่ชรามากอยู่แล้ว ๆ เชื่อใจพระยาพรหมยกกระบัตรว่าเต็มใจจักไปกับตนจริง ๆ
เจ้าอนุจึ่งสั่งนายทัพนายกองลาว ให้เข้าไปในเมืองราชสีมา เก็บได้เครื่องศาสตราวุธของพลเมืองทั้งสิ้น แต่ชั้นพร้า แลเสียม มีดใหญ่ก็ไม่ให้มีติดตนเลย แต่ทรัพย์สิ่งสินของพลเมืองนั้นไม่ได้เก็บนำไป เพราะจักล่อใจให้ชาวเมืองรักใคร่ติดตามไปโดยดี
ฝ่ายพระสุริยภักดีเจ้ากรมพระตำรวจ กับข้าหลวงมีชื่อหลายนายไปราชการสักเลขหัวเมือง ตั้งอยู่ที่เมืองยะโสธร ตั้งแต่ก่อนเจ้าอนุยังไม่ยกลงมานั้น ครั้นสุริยภักดีรู้การว่า เจ้าอนุเป็นกบถยกกองทัพลงไปตีกรุงเทพฯ แลเหนเจ้าอุปฮาดเวียงจันทร์ยก กองทัพมาตั้งทัพอยู่ที่ใกล้เมืองยะโสธร ที่พวกข้าหลวงไปตั้งสักเลขอยู่นั้น พระสุริยะภักดีจึ่งไปหาเจ้าอุปฮาดที่ค่ายใหญ่ พูดจากันด้วย อุบายต่าง ๆ เป็นความลับ จนเจ้าอุปฮาดรักใคร่นับถือไม่มีอาฆาตแก่กันแล้วเจ้าอุปฮาดเวียงจันทร์ว่ากับพระสุริยะภักดีว่า”ท่านจงลงไปกรุงเ ทพฯก็ไปเถิด เราให้ไปแล้ว แต่เราขอพระสุริยะภักดีช่วยกราบทูลพระเจ้าอยู่หัวว่า ตัวเราเจ้าอุปฮาดหาได้เป็นกบถไม่ แต่ขัดอาญาเจ้าอนุไม่ได้ ก็ ต้องมาตามสั่ง เพราะรักษาชีวิตของเราดอก แล้วเจ้าอุปฮาดจึ่งทำหนังสือฉบับหนึ่งฝากพระสุริยะภักดีให้นำมาให้เจ้าอนุ ถ้าพบที่ไหนก็ให้ที่นั้นเถิด”
พระสุริยะภักดีก็รีบยกลงมาเถิงกลางทาง ได้ข่าวว่าเจ้าอนุยกกองทัพไปตั้งค่ายใหญ่อยู่ที่เมืองราชสีมา แล้ว เป็นต้นทางจักลงไปกรุงเทพฯ ถ้าไม่แวะหาเจ้าอนุ ๆ คงจักให้ลาวจับเราฆ่าเสียเป็นแน่ จำเป็นจำต้องเข้าหาพูดจาประเล้าประโลม ล่อ ลวงหลอกหลอนด้วยอุบายต่าง ๆ พอจักพาตัวรอดมาได้สักคราวหนึ่งบ้าง คิดแล้วดั่งนั้นก็รีบเร่งพาพวกข้าหลวง สยามที่มาด้วยกันหลาย สิบคน เดิรทางตัดทางเข้ามาเขตแดนเมืองราชสีมา บอกกับลาวผู้รักษาด่านทางว่า “จักขอเข้าไปเฝ้าพระเจ้าย่ำกระหม่อม” พวกลาวชาว ด่านพากันคุมชาวสยามไว้ทั้งหมด พาแต่พระสุริยะภักดีเข้าไปหาเจ้าย่ำกระหม่อมในค่ายใหญ่ พระสุริยะภักดีเข้าไปเถิงประตูค่ายใหญ่ ก็นั่งลงกราบถวายบังคมครั้งหนึ่งก่อน แล้วจึ่งคลานเข้าไปเฝ้าที่หน้าพลับพลา หมอบกราบถวายบังคมอย่างธรรมเนียมสยามในกรุงเทพฯ แล้วทำกิริยาสุภาพอ่อนน้อมยอมกลัวเกรงเจ้าอนุที่สุด จนเจ้าอนุชอบใจรักใคร่ถามว่า “พระสุริยะภักดดีไปไหนมา” พระสุริยะภักดีก็ตอบว่า “มาราชการสักเลขอยู่ที่เมืองยะโสธร ได้รู้ข่าวว่าพระเจ้าย่ำกระหม่อมเสด็จมาประทับอยู่ที่เมืองราชสีมาแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าจึ่งได้มาเฝ้า ฝ่าละอองธุลีพระบาท แลเจ้าอุปฮาดก็ได้ใช้ให้ถือหนังสือมาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายด้วย” พระสุริยะภักดีได้นำหนังสือเจ้าอุปฮาดออกส่งให้ เจ้าอนุต่อมือเจ้าอนุเอง
เจ้าอนุดูหนังสือนั้นแล้วจึ่งว่า “พระสุริยะภักดีจักลงไปหาครอบครัวที่กรุงเทพฯ ก็ลงไปเถิด” แล้วให้หนังสือสำคัญสำหรับตัวหนังสือ เดิรทางไป ในระหว่างกองทัพลาวนั้นฉบับหนึ่ง แล้วเจ้าอนุจึ่งรับสั่งความกับพระสุริยะภักดีว่า “ถ้าลงไปเถิงกรุงเทพฯ แล้วให้กราบบังคมทูล พระเจ้าอยู่หัวกรุงเทพฯ ด้วย ว่าข้าไม่ได้เป็นกบถดอก เพราะครัวเมืองราชสีมาแลสระบุรีเขาร้องทุกข์ว่า เจ้าเมืองกรมการข่มขี่ข่มเหงเบียดเบียน เขาหนักหนา เขาจักสมัครขึ้นไปอยู่เมืองเวียงจันทร์ด้วยข้า ข้าจึ่งได้ยกกองทัพลงมารับพวกครัวขึ้นไป” พระสุริยะภักดีก็ทำกิริยาอ่อนน้อม ยำเกรง กลัวมากก็ลามา
ครั้นพระสุริยะภักดีลามานอกค่ายใหญ่รีบจักขึ้นช้างไป ขณะนั้นเจ้าอนุคิดขึ้นได้ก็ให้เจ้าโถงตาม ออกมาบอก พระสุริยะภักดีว่า “มีรับสั่งเจ้าย่ำกระหม่อมมาว่า ให้ขอตัวพระอนุชิตพิทักษ์ ซึ่งเป็นน้องเจ้าพระยาอภัยธร ที่สมุหนายกนั้นไว้คนหนึ่งเถิด เพราะเป็นผู้ชอบพอคุ้นเคยกันกับเจ้าย่ำกระหม่อม ๆ จักขอไว้คนหนึ่งก่อน”
พระสุริยะภักดีก็ไม่อาจจัก ขัดคำสั่งเจ้าอนุได้ เพราะกลัวอำนาจข้าศึกจึ่งได้ส่งตัวพระอนุชิตพิทักษ์ให้แก่เจ้าอนุ แต่พระสุริยะ ภักดีกับข้าหลวงพร้อมกันรีบเร่งเดิรมา เถิงตำบลคั่นยาวในกลางดงพระยาไฟ พบกองทัพเจ้าราชวงศ์เดิรทัพใหญ่ต้อนครอบครัวเมืองสระบุรี เดิรสวนทางขึ้นมาพบกันที่คั่นยาว เป็นที่แคบจักหนีไปทางไหนก็ไม่พ้น พระสุริยะภักดีจึ่งเข้าไปหาเจ้าราชวงศ์แล้วทำคำนับเป็นที่ยำเกรงกลัว แล้วแจ้งความตามรับสั่งเจ้าอนุให้เจ้าราชวงศ์ฟังทุกประการ เจ้าราชวงศ์ได้เหนหนังสือสำหรับตัวมีมาดั่งนั้นแล้ว ปล่อยให้พระสุริยะภักดีกับพวกข้าหลวงสยามทั้งปวงลงมา
แล้วเจ้าราชวงศ์คิดว่า “จักจับพระสุริยะภักดีฆ่าเสียดีกว่าปล่อยให้ไป ไม่มีประโยชน์อะไรเลย” ขณะนั้น เซียงใต้แลท้าวเพี้ยขุนนางผู้ใหญ่ในกองทัพจึ่งทูลทัดทานว่า “ท่านเจ้าย่ำกระหม่อมท่านปล่อยให้เขาไปแล้ว เราจักจับกุมเขาไว้ทำให้เหลือเกินรับสั่งหาบังควรไม่ ความ คิดของเจ้าย่ำกระหม่อมท่านจักคิดเป็นกลอุบายอย่างไร ก็ไม่รู้ เราจักทำล่วงเกินพระราชอำนาจท่านนั้นหาควรไม่ ่” เจ้าราชวงศ์จึ่งมิได้คิด ที่จักติดตามพระสุริยะภักดี ๆ ก็รีบเร่งเดิรทางลงมากรุงเทพมหานครโดยสะดวก
ฝ่ายพระยาปลัดไปด้วย เจ้าพระยานครราชสีมานั้น แจ้งความว่า เจ้าอนุยกกองทัพลงมากวาดต้อนครอบครัว พลเมืองราชสีมาไปมากดั่งนั้นแล้ว จึ่งปรึกษากับเจ้าพระยานคร ราชสีมาว่า”จักทิ้งครอบครัวไปเสียหมด ไม่ไประวังรักษาครัวเหนจัก ไม่ได้การ อ้ายลาวจักทำยับเยินป่นปี้เสียหมด จำจักต้องเพทุบายไปเข้าด้วยเจ้าอนุ เพราะหวังจักได้ระวังครัวกว่าจักได้โอกาส”
ฝ่ายเจ้าพระยานครราชสีมาก็เหนชอบด้วยความคิดพระยาปลัด จึ่งให้พระยาปลัดรีบยกมาบ้านเมือง
ฝ่ายพระยาปลัดก็เร่งรีบมาทั้งกลางคืนแลกลางวัน จนเถิงเมืองราชสีมาจึ่งเข้าหาเจ้าอนุโดยดี แล้วแจ้งความ แก่เจ้าอนุว่า “เจ้าพระยานครราชสีมาหนีไปอยู่เมืองเขมรแล้ว เพราะกลัว แต่ข้าพระเจ้าพระยาปลัดทิ้งครอบครัวไม่ได้ จึ่งกลับมาบ้านเมือง ขอตามเสด็จเจ้าย่ำกระหม่อมไปอยู่เมืองเวียงจันทร์ด้วย”
ฝ่ายเจ้าอนุก็เชื่อถือถ้อยคำพระยาปลัด แล้วเจ้าอนุจึ่งให้พระยาปลัดแลพระยายกกระบัตรทั้งสอง เป็นนายกองควบคุมครอบครัว เมืองราชสีมาขึ้นไปเวียงจันทร์ พวกครอบครัวเมืองราชสีมาออกเดิรทางไปวันละเล็กละน้อย ทางวันหนึ่งแกล้งเดิรไปเถิงสามสี่วันค่อยเดิรไปช้า ๆ
อนึ่ง เจ้าอนุคิดว่า ครัว เมืองราชสีมาประชุมกันเป็นหมู่มากนั้นชอบกล จึ่งรับสั่งให้นายทัพนายกองไปจัดแยกออก เป็นหลายกอง เพราะจักตัดกำลังสยามให้น้อยลง จักได้ไม่คิดต่อสู้ลาวได้
…ยังมีต่อ