ป. พิบูลสงคราม “จอมพลตราไก่” ตอน 1
ร้อยตรี แปลก พิบูลสงคราม ขณะศึกษาวิชาทหารปืนใหญ่
๑๖ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๐๐
ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
๒๒.๐๐ น. เศษ เสียงโทรศัพท์ดังลั่นขณะที่บุรุษผมสีดอกเลารับสาย
“ทหารกำลังจะมาล้อมทำเนียบครับท่าน” เสียงปลายสายร้อนรน
เขาวางสาย รีบลงมาชั้นล่าง ฟอร์ดทันเดอร์เบิร์ดติดเครื่องรออยู่แล้วพร้อมเลขาส่วนตัว นายตำรวจติดตาม และนายทหารอีกคนหนึ่ง เขาเข้าไปนั่งในที่คนขับ บึ่งรถกลับไปที่บ้าน เก็บสัมภาระ เปลี่ยนเสื้อผ้าแล้วเปลี่ยนรถเป็นซีตรอง DS19 ที่ลุยทางทุรกันดารได้ดี หลังจากนั้นแวะซอยชิดลมยืมเงินลูกเขยแล้วมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออก
รุ่งขึ้น เขาไปถึงชายหาดแห่งหนึ่งของจังหวัดตราด จ้างเรือหาปลาออกทะเลมุ่งหน้าสู่ชายฝั่งกัมพูชา
“โดยเรือยนต์ลำเล็ก ๆ ลำหนึ่งเป็นระยะทาง ๒๐ ไมล์ กว่าจะถึงฝั่งกัมพูชา…ต่อจากชายแดนกัมพูชา ข้าพเจ้าได้ว่าจ้างเรือยนต์ของชาวประมงเดินทางมายังเกาะเล็ก ๆ เกาะหนึ่งอันติดกันกับเกาะกงของเขมร ณ ที่นั่น ได้รับการต้อนรับอย่างดีจากเจ้าหน้าที่ของเขมร เจ้าหน้าที่ได้โทรเลขแจ้ง…ไปยังกรุงพนมเปญ…รัฐบาลกัมพูชาก็ได้จัดเรือรบไปรับข้าพเจ้า”
ใครจะคาดคิดว่า นี่คือฉากสุดท้ายทางการเมืองของ “จอมพล ป. พิบูลสงคราม” หนึ่งในแกนนำคณะราษฎร “ผู้อภิวัฒน์” เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี ๒๔๗๕ “นายกรัฐมนตรี” ซึ่งดำรงตำแหน่งยาวนานถึง ๑๔ ปี ๑๑ เดือน ๑๘ วัน และเคยรอดจากการลอบสังหารมาครั้งแล้วครั้งเล่า
การตกจากอำนาจของจอมพลครานี้ยังหมายถึง “คณะราษฎร” ตกเวทีการเมืองไทยโดยสมบูรณ์ ประเทศเข้าสู่ยุคเผด็จการเต็มใบนานนับทศวรรษ ในที่สุดความทรงจำเรื่องจอมพล ป. ก็ “ขาดวิ่น” คนไทยสมัยหลังจำจอมพลว่าเป็น “เผด็จการ” “นักฉวยโอกาส” ที่ร่วมกับญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกแล้วจะเข้ากับสัมพันธมิตรในบั้นปลาย เป็นผู้ที่ “ยุ่มย่ามชีวิตพลเมือง” บังคับ “เลิกกินหมาก” “เคารพธงชาติ” “ใส่หมวก” “ใส่รองเท้า” จน “หอมภรรยาก่อนออกจากบ้าน”
ในวงวิชาการ จอมพล ป. เป็น “ปีศาจ” ขั้วตรงข้ามกับ “ปรีดี พนมยงค์” รัฐบุรุษอาวุโส แกนนำคณะราษฎรสายพลเรือนที่ได้รับการฟื้นฟูเกียรติประวัติในทศวรรษ ๒๕๔๐
หากนับว่าจอมพล ป. ถึงแก่อสัญกรรมที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในเดือนมิถุนายน ๒๕๐๗ ขณะนี้ (มิถุนายน ๒๕๕๗) เวลาผ่านมาแล้วครึ่งศตวรรษ ฝุ่นควันประวัติศาสตร์อาจจางพอที่เราจะกลับมาทบทวนชีวิตจอมพลซึ่งนักประวัติศาสตร์ท่านหนึ่งอธิบายว่า “ก่อให้เกิดการถกเถียงและโต้แย้ง (controversy) มากที่สุด” อีกครั้ง
ในฐานะ “มนุษย์ที่มีชีวิตจิตใจ” ซึ่งครั้งหนึ่งโลดแล่นอยู่บนเวทีการเมืองไทยอย่างมีสีสัน
เด็กสวนทุเรียน
วันนี้ถ้าเจ้าของสวนทุเรียนนนทบุรีรุ่นทวดยังมีชีวิต และเราพาท่านกลับไป “บ้านเกิด” จอมพล ป. อีกครั้ง คุณทวดคงจำย่านปากคลองบางเขนเก่า จังหวัดนนทบุรี บ้านเกิดของ “จอมพลกระดูกเหล็ก” แทบไม่ได้
ปัจจุบันไม่อาจระบุจุดของ “บ้านเรือนแพ” ที่เด็กชายแปลกถือกำเนิดได้อีกแล้ว เพราะในแม่น้ำเจ้าพระยาไม่มีแพเหลืออยู่ ปากคลองบางเขนเก่าก็เต็มไปด้วยคนกลุ่มใหม่ซึ่งเข้ามาตั้งถิ่นฐานในยุคหลัง ริมตลิ่งตลอดแนวยังกลายเป็นเขื่อนคอนกรีตป้องกันน้ำท่วม ร่องรอยเกี่ยวกับบ้านจอมพลซึ่งยังปรากฏในแถบนี้ คือ “ถนนพิบูลสงคราม” ถนนหลวงหมายเลข ๓๐๖ อันเก่าแก่ของจังหวัดนนทบุรี ถนนกว้างหกเลน ยาวกว่า ๓ กิโลเมตรเชื่อมเขตบางซื่อ-เมืองนนทบุรี และ “โรงเรียนวัดเขมาภิรตาราม” ก็ตั้งอยู่บนหัวโค้งหักศอกของถนนสายนี้
ภายในโรงเรียน ผมพบสวนหย่อมเล็ก ๆ ริมรั้วด้านติดกับถนนเป็นที่ตั้งอนุสาวรีย์จอมพล ป. เว็บไซต์ของโรงเรียนบอกว่าอนุสาวรีย์นี้สร้างเมื่อปี ๒๕๓๒ และวันที่ ๑๔ กรกฎาคมถือเป็น “วันที่ระลึก ฯพณฯ จอมพล ป.” มีพิธีวางพวงมาลา มอบทุนการศึกษา (บางปีอาจจัดไม่ตรงวัน) และโรงเรียนยกย่องจอมพลในฐานะศิษย์รุ่นแรกและอดีตนายกรัฐมนตรี
ใกล้โรงเรียนวัดเขมาฯ คือ “โรงเรียนวัดปากน้ำ (พิบูลสงคราม)” ที่ตั้งอยู่ติด “วัดปากน้ำ (นนทบุรี)”
เมื่อ ๑๑๗ ปีที่แล้ว อดีตสมภารวัดนี้รับอุปการะ “เด็กชายแปลก” ทารกเพศชายซึ่งเกิดในช่วงใกล้รุ่งวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๔๔๐ จากครอบครัวขีตตะสังคะ บุตรคนที่ ๒ ของนายขีตและนางสำอางค์ ว่ากันว่าเขา “แปลก” ตามชื่อ นางสำอางค์กล่าวถึงลูกคนนี้ว่า “ร้องไห้ไม่หยุดถึง ๓ เดือน” จนต้องนำไปให้สมภารเลี้ยง หนังสือบางเล่มที่เขียนถึงทารกแปลกยังเอ่ยถึง “ใบหูซึ่งยาวรีนั้นมีระดับต่ำกว่าดวงตาจนผิดสังเกต” อย่างไรก็ตามเรื่องใบหูไม่ว่าจะเขียนตามธรรมเนียมผู้มีวาสนาหรือไม่ แต่ก็ทำให้เราอนุมานได้ว่า เด็กชายแปลกมีสุขภาพแข็งแรงดี
ต่อมาเขาถูกส่งเข้าเรียนที่วัดเขมาฯ จนถึง ป. ๔ พออายุได้ ๑๒ ปี บิดาก็ฝากเข้าโรงเรียนนายร้อยทหารบกซึ่งเป็นที่ฝึกผู้บังคับบัญชากองทัพพร้อมกับพี่ชาย
ช่วงนี้เองมีเรื่องเล่าว่าครั้งหนึ่งนักเรียนนายร้อยแปลกเที่ยวเยาวราชโดยไม่แต่งเครื่องแบบ พบคนจีนขายของก็เข้าไปถามราคา ปรากฏว่าคนจีนนั้นเห็นแปลกตัวเล็ก ผิวคล้ำก็ดูหมิ่น
“(แปลก) ก็โกรธและเกิดความคิดชาตินิยมขึ้นตั้งแต่บัดนั้น”
นายร้อยปืน ๗ กับ “ยอดรัก” ที่เมืองสองแคว
“นักเรียนทำการนายร้อยแปลก” สำเร็จการศึกษาเป็นนักเรียนนายร้อยรุ่นที่ ๑๒ พร้อมเพื่อนร่วมรุ่น ๖๐ คนเมื่ออายุ ๑๘ ปี (๒๔๕๗) ตามระบบราชการ เขาต้องเลือกเหล่าและหน่วยที่จะไปประจำ แปลกตัดสินใจเลือก “เหล่าทหารปืนใหญ่” หน่วยประจำการแรกที่เขียนไว้แพร่หลายในหนังสือชีวประวัติของเขา คือกรมทหารปืนใหญ่ที่ ๗ แห่งกองทัพน้อยที่ ๒ มณฑลพิษณุโลก ซึ่งเรียกขานในหมู่ทหารปืนใหญ่ยุคนั้นว่า “ปืน ๗”
การไปประจำหน่วยนี้เกิดจาก “อุบัติเหตุ” ด้วยแปลกกับเพื่อนร่วมรุ่นคือ บัตร พึ่งพระคุณ (ภายหลังคือ พลตำรวจเอก อดุล อดุลเดชจรัส) นัดว่าจะเลือกไปอยู่หน่วยเดียวกัน แต่พอเลือกจริงในปีถัดมา ผู้ที่ได้คะแนนเรียนสูงจะมีสิทธิ์เลือกหน่วยก่อน หน่วยในเมืองจึงเป็นที่นิยม พอแปลกเห็นอย่างนั้นก็ลืมว่าตนเลือก “เหล่าทหารปืนใหญ่” ไว้แล้ว กลับจิ้มเลือกหน่วยทหารราบ คือกองพันทหารราบที่ ๑ รักษาพระองค์ ก่อนจะได้รับคำตอบว่าไปไม่ได้ ซึ่งเขาก็ยังไม่ละความพยายาม ขอสมัครไปอยู่หน่วยทหารม้ารักษาพระองค์ (หน่วยรถรบ)
ผู้บังคับบัญชาเจอไม้นี้ก็เอ็ดเอาว่า “ตาแปลก ฉันบอกแกต้องอยู่เหล่าทหารปืนใหญ่ จะไปอยู่เหล่าอื่นไม่ได้ ถ้ายังขืนดื้อฉันจะไม่ให้ออกเป็นนายทหาร”
ถึงตอนนี้ อดุลเพื่อนรักเลือกปืน ๓ (ลพบุรี) ไปแล้ว แปลกจึง “ตกลงใจไปอยู่ปืน ๗” ที่นี่เขาพบนางสาวละเอียด พันธุ์กระวี วัย ๑๔ ปี กำลังเรียนและเป็นครูช่วยสอนที่โรงเรียนของมิชชันนารี บุตรีคนโตของนายเจริญและนางแช่ม พันธุ์กระวี เกิดที่จังหวัดนครปฐม ครอบครัวมีภูมิลำเนาอยู่พิษณุโลก เคยถูกส่งมาเรียนในกรุงเทพฯ ระยะหนึ่งที่โรงเรียนสตรีวิทยา ก่อนจะกลับมาเรียนต่อที่พิษณุโลกในโรงเรียนผดุงนารีซึ่งคณะมิชชันนารีอเมริกันตั้งขึ้นเป็นโรงเรียนสตรีแห่งแรกของจังหวัด
แปลกรับหน้าที่ฝึกทหารใหม่ ทุกวันเขาจะพาพลทหารฝึกหัดเดินผ่านหน้าโรงเรียน วิธีจีบของเขาคือฝาก “จดหมายน้อย” ส่งข้อความเกี้ยวพาราสีผ่านลูกศิษย์ไปให้ครูสาว เนื้อความขึ้นต้นว่า “น้องยอดรัก” มีประโยคอาทิ “ถ้าควักหัวใจมาได้จะควักให้ดู” หรือถ้าไม่ได้เห็นหน้าก็ “ขอให้เห็นหลังคาบ้านทุกวัน” เล่นเอาครูสาว “ตกใจ เหงื่อแตกใจหาย” ตัดสินใจนำไปให้บิดาอ่านทุกฉบับและไม่ยอมตอบไม่ว่าจะถูกเร่งรัดผ่านคนนำสารอย่างไรก็ตาม
จนเช้าวันหนึ่งในฤดูหนาว แปลกใส่เสื้อคลุมคอสีเหลือง สวมหมวกพันผ้าสีเหลือง กางเสื้อเดินยิ้มแต้เข้าไปหาครูสาวที่ยืนอยู่กับเพื่อน ทำนองว่ากั้นไม่ให้หนีไปไหน
ครูสาววิ่งลอดใต้เสื้อแล้วชูกำปั้น ก่อนจะพูดใส่ “เดี๋ยวฉันต่อยหน้าเลย”
นายร้อยหนุ่มจึง “อับจนปัญญา ถึงกับต้องรีบเลี่ยงออกจากทางเดิน ปล่อยให้นางสาวละเอียดผ่านไป แต่ก็มีหวังเพราะเลยไปแล้วยังหันมายิ้มตอบตามควรแก่กรณี”
๑๔ มกราคม ๒๔๕๙ (นับแบบปัจจุบันคือปี ๒๔๖๐) ทั้งคู่ก็เข้าพิธีวิวาห์
เขามาเฉลยภายหลังว่าตอนที่สาวขู่จะต่อยนั้นเองที่เขาคิดว่าผู้หญิงคนนี้
“ชะรอยจะเป็นนักรบแท้คนหนึ่งเสียแล้ว”
—- มีต่อ ——
ที่มา: http://www.sarakadee.com/2015/02/11/por-pibulsongkram/