นักเขียนการ์ตูนคนแรกของเมืองไทย

นักเขียนการ์ตูนคนแรกของเมืองไทย

จุดเริ่มต้นแห่งการ์ตูนสยามเกิดขึ้นในราวปี พ.ศ.2460 เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงสนพระทัยเป็นอย่างมากในศิลปะการเขียนภาพล้อ และโปรดเกล้าฯ ให้แปลคำว่า Cartoon เป็นคำไทยว่า ภาพล้อ นอกจากนี้ในช่วงรัชสมัย ของพระองค์ ในปีพ.ศ.2463 ได้ทรงริเริ่มออกวารสารดุสิตสมิต ที่มักจะนำภาพล้อบุคคลต่างๆ มาตีพิมพ์ด้วยเสมอ อีกทั้งยังมีการประกวดภาพเขียนจากนักวาดมือสมัครเล่นเป็นการภายในด้วย จนบรรดาหนังสือพิมพ์ในยุคนั้น ได้ตีพิมพ์ภาพล้อการเมืองกันมากขึ้น

ช่วงเวลานั้นเอง บุคคลที่จัดเป็นการ์ตูนนิสต์ นักเขียนภาพล้อ คนแรกของไทย แจ้งเกิดมีชื่อเสียง คือ เปล่ง ไตรปิ่น หรือ ขุนปฏิภาคพิมพ์ลิขิต

เปล่ง ไตรปิ่น เกิดเมื่อพ.ศ.2428 ไม่มีข้อมูลว่าท่านเกิดที่ไหน ทราบแต่ว่าเป็นบุตรของ นายสอน กับ นางเภา ชอบวาดภาพตั้งแต่อายุ 12 ปี ดั้นด้นติดตาม พระราชานุประพันธ์ ซึ่งเป็นราชทูตประจำประเทศญี่ปุ่น และติดตามเพื่อนไปอังกฤษ ได้ศึกษาวิชาการด้านต่างๆ เช่น การเขียนภาพ พิมพ์ภาพ ทำแม่พิมพ์ ถ่ายภาพ ล้างภาพ การกลึง แกะสลัก โดยเป็นเด็กรับใช้ครูสอนวิชาวาดเขียนซึ่งทำให้ได้รับความรู้และประสบ การณ์มาก ต่อมาเดินทางไปเดนมาร์ก ฮอลแลนด์ ฝรั่งเศส อิตาลี ในลักษณะทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย จนกระทั่งเดินทางกลับเมืองไทยพร้อมคณะซื้อม้าของ พระยาคทาทรธรนินทร์ (ชุ่ม อภัยวงศ์) รวมระยะเวลาอยู่ต่างประเทศกว่า 20 ปี

ในวัย 32 ตั้งร้านทำแม่พิมพ์สมัยใหม่ โดยใช้กรดกัดสังกะสี พร้อมเริ่มเขียนภาพการ์ตูนล้อการเมือง และชนะการประกวดที่หนังสือพิมพ์กรุงเทพฯ เดลิเมล์ จัดขึ้น สร้างชื่อเสียงโด่งดัง ที่สุดได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็น ‘ขุนปฏิภาคพิมพ์ลิขิต’ จากที่เป็นผู้นำเทคโนโลยีการพิมพ์อย่างใหม่ คือการทำบล็อกแม่พิมพ์เข้ามาในเมืองไทย สำหรับแนวการ์ตูนของขุนปฏิภาคฯ เป็นแนวการ์ตูนล้อนักการเมืองสำคัญในยุคนั้น รางวัลพระราชทานจากรัชกาลที่ 6 ท่านก็ได้จากการเขียนการ์ตูนแนวดังกล่าวส่งเข้าประกวด


เมื่อแรกกลับเมืองไทย พระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน อธิบดีกรมรถไฟหลวง ทรงบรรจุให้นายเปล่งเข้าทำงานในตำแหน่งหัวหน้าช่างถ่ายภาพกรมรถไฟหลวง แต่ลาออกในภายหลังเนื่องจากขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่ฝรั่ง จากนั้นท่านจึงไปเขียนภาพล้อตามหนังสือพิมพ์ต่างๆ เช่น กรุงเทพฯเดลิเมล์, ไทยหนุ่ม, บางกอกไตม์ เป็นต้น ต่อมาได้รับเชิญเป็นครูสอนวาดเขียนที่โรงเรียนเพาะช่าง และมีตำแหน่งที่ปรึกษาของบริษัทศรีกรุง ซึ่งเป็นบริษัทภาพยนตร์เสียง ก่อนลาออกจากครูมาทำงานที่บริษัทศรีกรุงเพียงแห่งเดียว

ในปีพ.ศ.2470 หลังจากบริษัท กรุงเทพภาพยนตร์สร้างภาพยนตร์เรื่อง โชคสองชั้น และออกฉายในเดือนกรกฎาคม ของปีนั้นแล้ว บริษัทถ่ายภาพยนตร์ไทยจึงสร้างภาพยนตร์เรื่อง ไม่คิดเลย ออกมาแข่งบ้าง โดยขุนปฏิภาคพิมพ์ลิขิต ซึ่งเคยเป็นหัวหน้าช่างถ่ายภาพยนตร์กรมรถไฟหลวงมาก่อน เป็นทั้งผู้ถ่ายภาพและกำกับการแสดง

ขุนปฏิภาคพิมพ์ลิขิต หรือ เปล่ง ไตรปิ่น ได้รับการยกย่องเป็นนักเขียนการ์ตูนคนแรกของเมืองไทย ทั้งยังเป็นผู้นำวิชาการทำบล็อกเข้ามาเผยแพร่ในเมืองไทย ท่านถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 8 กันยายน พ.ศ.2485 ด้วยโรคลำไส้พิการ สิริอายุ 57 ปี ทายาทของท่าน จิตต์ ไตรปิ่น (จ. ไตรปิ่น) เป็นนักวาดภาพคนสำคัญของเมืองไทยเช่นกัน

ที่มา: http://www.khaosod.co.th/

Leave a Reply