เทศกาลกินผักมงคล 7 ชนิด (七樣菜)

เทศกาลกินผักมงคล 7 ชนิด (七樣菜)


ในช่วงเทศกาลตรุษจีนนั้นจะมีเทศกาลอื่นๆ รวมอยู่ด้วยมากมายหลายเทศกาล โดยเริ่มตั้งแต่ก่อนวันตรุษจีนยาวไปจนถึงวันเทศกาลง้วงเซียว (元宵節) หรือที่ชาวไทยเรารู้จักกันว่าวันเทศกาลชาวนาหรือเทศกาลโคมไฟ อันจะเกิดขึ้นในวันที่ 15 เดือน 1 (正月大 十五) ตามปฏิทินจันทรคติจีนและถือว่าเป็นวันสิ้นสุดงานเทศกาลเฉลิมฉลองปีใหม่ของ ชาวจีนด้วย

 

เทศกาลนี้จะเกิดขึ้นในวันที่ 7 (初七) เดือนแรกตามปฏิทินทางจันทรคติจีน โดยชาวจีนนั้นจะถือว่าเลข 7 เป็นเลขแห่งความมานะอุตสาหะ เลขแห่งความอดทนอดกลั้น หรือเรียกง่ายๆ ว่าเลขแห่งประสบการณ์ความยากลำบากในชีวิตที่ทำให้เรากล้าแกร่งมาเป็นผู้ใหญ่ ที่สมบูรณ์ในทุกวันนี้ แล้วเอาความหมายของเลข 7 นี้มาสร้างเป็นคติไว้เตือนใจลูกหลานว่าควรดำเนินชีวิตกันอย่างไร
ชาวจีนจึงได้คิดประเพณีขึ้นมาในช่วงกึ่ง กลางของเทศกาลตรุษจีนที่จะมีติดต่อกันยาวนานถึง 15 วัน โดย เทศกาลนี้มีชื่อว่าเทศกาล “ฉิกเอี๊ยไฉ่ (七樣菜)” หรือ “เทศกาลกินผัก 7 อย่าง” โดยจะนำผักที่มีชื่อมงคล 7 ชนิดมารับประทานเพื่อเตือนสติว่าปีเก่าได้ผ่านพ้นไปแล้ว ปีใหม่นี้เราควรเริ่มต้นชีวิตใหม่ตามอย่างความหมายอันเป็นนัยยะของผัก 7 ชนิดดังนี้ คือ

1. คึ้งไฉ่ (芹菜) หรือที่คนไทยเราเรียกกันว่า “ผักคื่นช่าย” นั่นเอง โดยผักคึ้งไฉ่ คำว่า “คึ้ง” จะไปพ้องเสียงกับคำว่า “คึ้ง (勤)” ที่แปลว่า มุมานะบากบั่น, พากเพียร, ขยันขันแข็ง
ดังนั้นคึ้งไฉ่ จึงเป็นผักที่นำมาเป็นกุศโลบายเพื่อเตือนใจว่า เกิดเป็นคนต้องรู้จักขยันหมั่นเพียร มุมานะอดทดต่อความยากลำบาก อย่าสำมะเรเทเมาลุ่มหลงไปกับกิเลสตัณหา เพื่อที่จะได้สุขสบายและร่ำรวยในอนาคต

2. ชุงไฉ่ (春菜) หรือที่คนไทยเราเรียกกันว่า “ผักโขมจีน”โดย คำว่า “ชุง” นี้จะแปลว่า ฤดูใบไม้ผลิ, วัยหนุ่มวัยสาว, ความรัก, พลังชีวิต แล้วยังไปพ้องเสียงกับคำว่า “ชุง (伸)” ในภาษาแต้จิ๋วที่แปลว่า แผ่ขยาย, เหยียดออก, ยืดออก
ดังนั้นชุงไฉ่ จึงเป็นผักที่นำมาเป็นกุศโลบายเพื่อเตือนใจว่า ให้รู้จักขยันทำมาหากินรู้จักเพิ่มพูนทรัพย์สินด้วยความกระปรี้กระเปร่า เหมือนตอนหนุ่มสาว อย่าทำตัวขี้เกียจ สิ่งใดที่เลวร้ายที่ผ่านมาก็ให้ถือว่าเป็นบทเรียนเพื่อให้เรากลับมาเติบโต อย่างแข็งแกร่งอีกครั้ง การงานอะไรที่ทำอยู่แม้เราจะไม่ชอบงานที่ทำอยู่นั้น เราต้องทำมันด้วยความรักเอาใจใส่และความรับผิดชอบหน้าที่การงานนั้นให้ดีที่สุด

3. เก๋าฮะไฉ่ (厚合菜) ไม่มีชื่อในภาษาไทยแต่มีขายและปลูกในประเทศไทยแล้ว โดยคำว่า “เก๋า” นี้จะแปลว่า ให้ความสนใจ, เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่, ยกย่องให้เกียรติ, อบอุ่น ส่วนคำว่า “ฮะ” แปลว่า ร่วมกัน, พึงควร, ถูกต้อง
ดังนั้นเก๋าฮะไฉ่ จึงเป็นผักที่นำมาเป็นกุศโลบายเพื่อเตือนใจว่า จะทำงานอะไรก็ตามแต่ ต้องให้เกียรติรู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่ผู้ร่วมงานและผู้อื่นเสมอ และพึงควรให้ความสนใจสอดส่องกิจการงานที่ทำอยู่ตลอดเวลาอย่างไม่ประมาท

4. สึ่งไฉ่ (蒜菜) หรือหรือที่คนไทยเราเรียกว่า “ต้นกระเทียม” หรือจะเป็นหัวกระเทียมก็ได้ โดยคำว่า “สึ่ง” นี้จะไปพ้องเสียงกับคำว่า “สึ่ง (算)” ที่แปลว่า คิดคำนวณ, แผนการ, นับ
ดังนั้นสึ่งไฉ่ จึงเป็นผักที่นำมาเป็นกุศโลบายเพื่อเตือนใจว่า ก่อนที่จะลงมือทำอะไรสักอย่าง ให้คิดใคร่ควรให้รอบคอบก่อนลงมือทำ อย่าด่วนใจร้อนตัดสินด้วยการเอาอารมณ์เป็นที่ตั้ง หัดรู้จักเริ่มนับจากหนึ่งไปจนเต็มร้อย เริ่มจากทุนรอนที่เรามีอยู่แล้วค่อยเก็บออมจนมั่งมี อย่าคิดรวยทางลัดด้วยการทำอะไรที่ขัดต่อหลักศีลธรรมหรืออย่าทำอะไรที่เกิน ตัวเกินกำลังมากไป เพราะมันจะนำมาซึ่งความเสียหายแก่เราในภายหลัง

5. ตั้วไฉ่ (大菜) หรือที่คนไทยเราเรียกว่า “ผักกาดเขียว” โดยคำว่า “ตั้ว” นี้จะเเปลว่า มากหรือใหญ่ ผักกาดเขียวก็จะเป็นผักที่มีใบมาก มีใบขนาดใหญ่และเป็นผักที่หัวใหญ่ด้วย บางครั้งถ้าหาผักกาดเขียวไม่ได้ก็สามารถใช้ผักกาดขาวหรือกะหล่ำปลีมาใช้แทน ก็ได้
ดังนั้นตั้วไฉ่ จึงเป็นผักที่นำมาเป็นกุศโลบายเพื่อเตือนใจว่า จะทำอะไรให้พยายามมองไปข้างหน้า (อนาคต) หัดอดเปรี้ยวไว้กินหวาน คิดถึงการใหญ่ที่เรามุ่งหมายจะไปให้ถึงที่ฝันเอาไว้เป็นที่ตั้ง เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ผ่านไปได้ก็ให้ผ่านเลยไป อย่าเก็บเอามาเป็นเรื่องเป็นราวเป็นอุปสรรคให้เสียงาน

6. ไฉ่เท้า (菜頭) หรือที่คนไทยเราเรียกกันว่า “หัวไชเท้า หรือ ผักกาดหัว” โดยคำว่า “ไฉ่” ก็คือ ผัก ส่วนคำว่า “เท้า” จะแปลว่า หัว, หัวหน้า, เจ้านาย, จุดเบื้องต้นและจุดเบื้องปลายของสรรพสิ่ง
ดังนั้นไฉ่เท้า จึงเป็นผักที่นำมาเป็นกุศโลบายเพื่อเตือนใจว่า คนเราเมื่อร่ำรวยหรือได้เป็นใหญ่เป็นโตดั่งที่ปรารถนาแล้ว ก็อย่าลืมกำพืด อย่าลืมตน หมั่นนึกถึงความยากลำบากและการสู้ชีวิตชีวิตที่ผ่านมาจนทำให้เราร่ำรวยได้ และมาเป็นใหญ่เป็นโตในวัน

7. กะนั้มไฉ่ (甲藍菜) หรือที่คนไทยเราเรียกกันว่า “ผักคะน้า” โดยคำว่า “กะ” จะหมายถึง ยอดเยี่ยม, ล้ำเลิศ, เกราะป้องกัน ส่วนคำว่า “นั้ม” จะหมายถึงสีน้ำเงินหรือสีคราม ซึ่งสีนี้ชาวจีนถือกันว่าเป็นสีแห่งท้องฟ้าหรือสวรรค์ และในพระพุทธศาสนานิกายมหายานถือว่าเป็นสีรัศมีแห่งธรรมะ
ดังนั้นกะนั้มไฉ่ จึงเป็นผักที่นำมาเป็นกุศโลบายเพื่อเตือนใจว่า ชีวิตคนเรานั้นเกิดมาก็มีแต่ตัวอย่างเดียวมาแต่กำเนิด ตายไปก็เอาอะไรติดตัวไปไม่ได้ ที่สุดแล้วก็จะมีแต่ความดีงามที่ติดตัวไปได้เท่านั้น พึงหมั่นเร่งสร้างบุญสร้างกุศลและปฏิบัติธรรมเพื่อให้หลุดพ้น ถ้าทำได้เช่นนี้แล้วก็จะถือว่าเป็นยอดแห่งคนและธรรมนั้นจะเป็นเกราะคุ้มครอง ให้ผู้ปฏิบัติธรรมเสมอ

ผักมงคลสอนใจทั้ง 7 ชนิดที่กล่าวมาข้างต้นนี้ เป็นอิทธิพลความเชื่อมาจากชาวจีนเชื้อสายแต้จิ๋ว
เพราะเห็นได้จากชื่อของผักบางชนิดที่มีชื่อไปพ้องเสียงกับคำมงคลอีกคำหนึ่ง โดยถ้าเป็นภาษาจีนเชื้อสายอื่นแล้ว เขาอาจจะนำผักอื่นที่มีชื่อพ้องกับคำมงคลในภาษาเขามาใช้แทนก็ย่อมได้

อีกอย่างในช่วงเทศกาลตรุษจีนนั้น จะเห็นได้ว่าชาวจีนจะมักนิยมบริโภคเนื้อสัตว์และดื่มสุราเพื่อเป็นการเฉลิม ฉลองกันเป็นส่วนมาก การได้กินผักซึ่งมีกากใยและสารอาหารที่มีประโยชน์เข้าไป ย่อมจะทำให้ดีต่อสุขภาพในการช่วยย่อยหรือล้างสารพิษที่ตกค้างอยู่ในร่างกาย จึงเป็นกุศโลบายอีกอย่างหนึ่งของชาวจีน ที่นำมาเป็นประเพณีปฏิบัติสืบต่อกันมาในช่วงวันที่ 7 ของเทศกาลตรุษจีนของทุกๆ ปี

ที่มา: https://pantip.com/topic/30148037

Leave a Reply