ทำไมโลโก้แอปเปิ้ลต้องมีรอยแหว่ง

ทำไมโลโก้แอปเปิ้ลต้องมีรอยแหว่ง

apple-logo

เคยสงสัยกันไหมว่า ทำไมโลโก้ของแอปเปิล ถึงต้องมีรอยแหว่ง ทำไมไม่เป็นรูปแอปเปิลเต็มๆ ลูก ทั้งๆ ที่บริษัทก็ไม่ได้ชื่อแอปเปิลแหว่งซะหน่อย เรามาดูเรื่องราวที่มาที่ไป ของโลโก้ที่มีคนจดจำและมีชื่อเสียงที่สุดชิ้นหนึ่งของโลกกัน

original_apple_logo
The Newton Crest (1976)

โลโก้แรกสุดของบริษัทแอปเปิล ไม่ได้เป็นอย่างที่เราเห็นทุกวันนี้ โดยในปี 1976 สตีฟ จ็อบส์, สตีฟ ว๊อซเนียก (Steve Wozniak) และ รอน เวนน์ (Ronald Wayne) เมื่อครั้งก่อตั้งบริษัท ทั้งหมดได้มีความเห็นตรงกันว่าบริษัทจะใช้ชื่อว่า “แอปเปิล”

รอน เวนน์ได้ทำการออกแบบโลโก้แอปเปิลด้วยแนวทางคลาสสิค โดยมีรูปของเซอร์ ไอแซค นิวตันนั่งอยู่ใต้ต้นไม้ และมีลูกแอปเปิลกำลังจะตกลงบนหัว มีประโยคเขียนกำกับว่า “Newton… A Mind Forever Voyaging Through Strange Seas of Thought … Alone.”

apple_rainbow_logo

The Rainbow Logo : ปี 1976-1998

บริษัทแอปเปิลก่อตั้งได้ไม่กี่วัน รอน เวนน์ก็มาขอถอนตัวออกไป เหลือเพียงจ็อบส์กับว๊อซเนียกแค่ 2 คน ทั้งคู่ได้ร่วมสร้างบริษัทไปด้วยกัน เริ่มมีพนักงานมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงช่วงที่แอปเปิลจะออกเครื่อง Apple II จ็อบส์จึงใช้โอกาสปรับเปลี่ยนโลโก้ของบริษัทใหม่

  • สตีฟ จ็อบส์ได้ว่าจ้างบริษัท Rigis McKena ให้ช่วยออกแบบโลโก้ใหม่ โดยมีร็อบ เจนอฟ (Rob Janoff) เป็นอาร์ตไดเรคเตอร์
  • จ็อบส์บอกกับเจนอฟว่า “อย่าออกแบบให้มันดูจุ๋มจิ๋มน่ารักนะ” และ “อยากให้มันดูทันสมัยมากกว่าเดิม”
  • เจนอฟเริ่มต้นออกแบบโลโก้แอปเปิลด้วยการทำเงาขาว-ดำ เป็นลูกแอปเปิล จากนั้นค่อยๆ เพิ่มไอเดียเข้าไป
  • เขาพบว่ารูปแอปเปิลที่ออกแบบไว้ ดูไม่ออกว่าเป็นลูกอะไร บางมุมก็ดูเป็นมะเขือเทศ บางมุมก็ดูเป็นผลเชอรี่ ดูไม่ออกว่าเป็นลูกแอปเปิล

apple-logo-without-bite

ถ้าโลโก้แอปเปิลไม่มีรอยแหว่ง จะดูไม่ออกว่าเป็นลูกแอปเปิล

  • เจนอฟจึงเพิ่มลูกเล่นลงไป เป็น “รอยแหว่ง” หรือรอยกัด ซึ่งจะดูออกทันทีว่าเป็นผลแอปเปิล นอกจากนี้คำว่ากัด (Bite) ในภาษาอังกฤษยังพ้องกับคำว่า ไบต์ (Byte) ซึ่งเป็นหน่วยความจำและสามารถบ่งบอกถึงคอมพิวเตอร์ได้

aplle II

เครื่อง Apple II ที่มีโลโก้ของแอปเปิลสายรุ้งอยู่

  • จากรูปแอปเปิล สตีฟ จ็อบส์ได้เข้ามามีส่วนร่วมโดยการให้ไอเดียว่าโลโก้ของบริษัทควรจะมีสีสัน เพื่อบ่งบอกความเป็นมนุษย์ (Humanize) และ Apple II เป็นคอมพิวเตอร์สำหรับผู้ใช้ทั่วไปเครื่องแรกที่แสดงผลเป็นสีสันได้ เจนอฟจึงได้เพิ่มแถบสีเข้าไป
  • สีของโลโก้แอปเปิลเริ่มจากเขียว เพราะต้องการแสดงถึงใบไม้ จากนั้นก็ไล่สีลงมาคล้ายกับการไล่สีสายรุ้ง คือ เขียว เหลือง ส้ม แดง ม่วง ฟ้า (ตัดสีน้ำเงินออก)
  • แอปเปิลได้เริ่มใช้โลโก้สายรุ้งนี้เมื่อปี 1976 และปรากฏอยู่บนเครื่อง Apple II เป็นเครื่องแรก

apple-logo-blacksilver-apple-logo

The Monochrome Logo: ปี 1998 – ปัจจุบัน

หลังจากที่ใช้โลโก้สายรุ้งอยู่นานถึง 20 ปี แอปเปิลก็ได้มาถึงยุคที่ตกต่ำสุดขีด จนต้องนำตัวสตีฟ จ็อบส์ ซึ่งเคยถูกไล่ออกจากบริษัทไปเมื่อปี 1984 กลับมากอบกู้บริษัทอีกครั้งเมื่อปี 1997 จ็อบส์เข้ามาเปลี่ยนแปลงอะไรหลายอย่างในแอปเปิลในแนวทางของเขา รวมไปถึงโลโก้ของบริษัทด้วย

การเปลี่ยนภาพลักษณ์ใหม่ของแอปเปิลมาพร้อมกับแคมเปญ Think Different ซึ่งจ็อบส์พบว่าแบรนด์ของแอปเปิลเป็นที่จดจำของใครหลายคน การชูโลโก้ให้เด่นในสินค้า และการออกโฆษณาต่างๆ

นอกจากนี้การใช้โลโก้สีรุ้งยังเข้ากันได้ยากกับสินค้าอย่าง iMac หรือการขยายโลโก้ขนาดใหญ่มากๆ (ลองนึกภาพ Apple Store ที่มีโลโก้สีรุ้งขนาดใหญ่)

ด้วยเหตุนี้แอปเปิลจึงเลิกใช้โลโก้สีรุ้ง และนำโลโก้สีดำล้วน, ขาวล้วน หรือสีเงินเข้ามาแทน

โลโก้แอปเปิลที่มีรอยแหว่งนั้น จัดเป็นโลโก้ที่ได้รับเสียงชื่นชมทั้งในด้านการออกแบบ และความเข้าใจง่ายถึงแบรนด์ จนปัจจุบันแอปเปิลได้รับการจัดอันดับให้เป็นแบรนด์ที่มีผู้จดจำได้มากที่สุดในโลกอีกด้วย

apple_logo_history

เรียบเรียงโดย
ทีมงาน MacThai.com

ที่มาภาพและข้อมูล – EditableApple, TheGoodView, b3ta, หนังสือ สตีฟ จ็อบส์ โดยวอลเตอร์ ไอแซคสัน

Leave a Reply