บันทึกลับเจ้าพระยาบดินทร์เดชาฯ ตอน 4

บันทึกลับเจ้าพระยาบดินทร์เดชาฯ ตอน 4

การจัดทัพฝ่ายสยามในกรุงเทพมหานคร

v-badindecha

ฝ่ายที่กรุงเทพมหานคร เมื่อเดือนสาม ปีจอ อัฐศกนั้น พระไชยวิชิต ผู้ รักษากรุงเก่า เมื่อหนังสือบอกลงมา กรุงเทพฯ ฉบับ ๑ วางยังศาลาเวรมหาดไทย เจ้าพระยาอภัยภูธร(น้อย) ที่สมุหนายก นำหนังสือบอกกรุงเก่าขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา ใจความว่า ราษฏรทั้งหลายเหนพวกลาวเมืองเวียงจันทร์ ลงมากวาดต้อนครอบครัวชาวเมืองสระบุรีพาขึ้นไปเป็นอันมาก เหตุผลต้นปลาย ประการใด ยังไม่รู้เกล้ารู้กระหม่อม แต่ได้ใช้ให้กรมการขึ้นไปสืบแล้วยังไม่กลับลงมา ถ้าได้ความประการใดจึ่งจักบอกลงมา กราบบังคมทูลพระกรุณาต่อครั้งหลัง

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ได้ทรงรู้ใต้ฝ่าละออกธุลีพระบาทแล้ว จึ่งทรงพระราชดำริโดยพระปรีชาวัย ในทันใด นั้น ทรงรู้ว่าเจ้าอนุเป็นขบถแน่ จึ่งมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อม สั่งแก่พระอินทรเทพ เจ้ากรมพระตำรวจ ให้ หาเรือเร็วรีบเร่งขึ้นไปสืบราชการศึกลาวที่เมืองสระบุรีให้ได้ความมาโดยเร็ว ให้หลวงศุภมาตรา ผู้ถือหนังสือบอกกรุงเก่ามานั้น เป็นผู้นำ พระอินทรเทพขึ้นไปที่เมืองสระบุรี จักได้ชี้ตำแหน่งตำบลที่ลาวสระบุรีหนีไปกับลาวเวียงจันทร์นั้นทุกแห่ง แล้วโปรดเกล้าฯ ให้
โปรดให้ พระพิเรนทรเทพ(ขำ) เจ้ากรมพระตำรวจ บุตรเจ้าพระยานครราชสีมา (อิน) กับพระยาราชเสนา ปลัดบัญชี กรมมหาดไทย คุมคนหกสิบรีบเร่งขึ้นไปสืบราชการศึกลาวที่เมืองสระบุรี ตลอดเถิงเมืองราชสีมาให้ได้ความมาชัดเจน
โปรดให้ พระหฤทัย เจ้ากรมพระตำรวจหลัง กับ หลวงเสนีพิทักษ์ ในกรมมหาดไทย คุมคนห้าสิบคน เดิรบกขึ้นไปสืบ ราชการศึกลาวโดยทางเมืองปราจีนบุรี แลเมืองกบินทร์ บุรีให้ได้ความมาชัดเจน
โปรดให้ พระยาราชวังสัน คุมแขกอาสาจามสี่ร้อย ไปจัดแจงซ่อมแซมเรือรบเรือไล่ไว้ให้พร้อม เพื่อจักได้ป้องกัน รักษาพระนคร

ครั้นรุ่งขึ้นอีกสองวัน มีหนังสือบอกเมืองกบินทร์บุรี ให้หลวงแพ่ง กรมการเมืองเข้ามาโดยทางบกด้วยม้าเร็ว ฉบับหนึ่ง วางยังศาลาเวรมหาดไทย เจ้าพระยาอภัยภูธร ที่สมุหนายก นำขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาใจความว่า ” พลเมืองลาวสุวรรณ ภูมิ แลเมืองสุรินทร์ เมืองสังขะ เมืองเขมา แตกตื่นพาครอบครัวอพยพมาอาศัยยังเมืองกบินทร์บุรี กรม การเมืองกบินทร์บุรี ไต่ถามก็ได้ความว่า เจ้าอนุเป็นขบถยกกองทัพใหญ่ลงมาตีเมืองนครราช สีมาแตกแล้ว เจ้าอนุจึ่งให้เจ้าราชบุตรผู้เป็นเจ้าเมืองจำปาศักดิ์ ยกกองทัพมาตีเมืองชัยบุรี ๑ เมืองนครพนม ๑ เมืองนครพนม ๑ เมืองมุกดาหาร ๑ เมืองอุบลราชธานี ๑ เมืองยะโสธร ๑ เมืองศรีษะเกษ ๑ เมืองเดชอุดม ๑ รวม ๗ เมือง เมืองเหล่านี้เป็นเมืองใหญ่ แลเมืองเล็กเมืองน้อยตามลำน้ำโขงนั้นหลายเมือง กองทัพเวียงจันทร์กวาดต้อนครอบครัวพลเมือง จากเมืองที่ว่ามานี้ ขึ้นไปเมืองเวียงจันทร์เป็นอันมาก แต่เมืองสุวรรณภูมินั้นยังไม่เสียแก่ทัพเวียงจันทร์ เพราะว่า “เจ้าศรีวอ เจ้าเมืองสุวรรณ ภูมิ” กับหัวเมืองใกล้เคียง ช่วยกันรักษาเมืองไว้ ได้ ”

ฝ่ายพระยากบินทร์ ได้แต่งให้ ท้าวสุริยเทพ กับ ท้าวเทพวงศ์ แล หลวงพลสงคราม กับ ขุนชำนาญสิงขรเขต นาย ด่าน พร้อมกันคุมไพร่สยามลาวห้าสิบคน ไปสืบราชการศึกลาวอีกต่อไป กลับมาได้ความว่า ” ซึ่งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระยานครราชสีมาขึ้นไปห้ามปรามเจ้าเมืองขุขันธบุรีวิวาทรบกัน กับ พระปลัดเมืองขุขันธ์ นั้น บัดนี้พระยาขุขันธ์ กลับใจไปเข้าด้วยเจ้าอนุแล้ว พระยาขุขันธ์เกณฑ์ผู้คนไว้ได้มาก จักยกเข้าล้อมจับเจ้าพระยานครราช สีมา ส่งไปให้เจ้าอนุเวียงจันทร์ แต่พระปลัดเมืองขุขันธ์เป็นอริกับพระยาขุขันธ์ พระปลัดจึ่งเก็บข้อความลับของพระยาขุขันธ์จักทำร้ายแก่เจ้าพระยานครราชสีมานั้น มาบอกแก่ พระเทพภักดีผู้บุตรของเจ้าพระยานครราชสีมา ๆ รู้ ตัวก่อน จึ่งพาพระปลัดเมืองขุขันธ์บุรี กวาดต้อนครัวเมืองขุขันธ์ ที่ควรจักพาไปได้ก็พาไปมาก ครั้นยามดีกสงัด เจ้าพระยานครราช สีมากับพระปลัด ก็จุดไฟเผาบ้านเรือนนอกเมืองขุขันธ์ แล้วก็ยกกองทัพรีบหนีออกจากเมืองขุขันธ์ลงไปทางใต้ จักไปทางเขมรฤๅจักมาทางช่องเสม็ด ฤๅลงไปทางเมืองกบินทร์ก็ยังไม่แจ้ง แต่พระยากบินทร์ ได้สั่งให้กรมการจัดคนสองร้อยห้าสิบคน เกวียน ๖๐ เล่ม โคต่างร้อยหนึ่ง บรรทุกเสบียงอาหารพร้อม ให้พระพรหมภักดี จางวางกองนอก กับหลวงวิชัยสงครามเป็นนายกอง คุมไพร่พลแลเกวียนโคต่าง ออกไปตั้งอยู่ที่ช่องเสม็ด แลทางเชิงผาภูมิ อันเป็นทางแยกมาแต่ช่องเรือแตก ให้คอยจ่ายเสบียงอาหารแก่เจ้าพระยานครราฃสีมา เผื่อจักเข้ามาทางนั้นยังเมืองกบินทร์ แล้วแต่งให้หลวงยกกระบัตรกับขุนโจมจตุรงค์ นายด่าน คุมช้างยี่สิบเชือกกับไพร่พลห้าสิบคน ไปต้อนรับเจ้าพระยา นครราชสีมา จนเถิงเขตแดนเขาลี่ผีฝ่ายเขมรด้วยแล้ว”

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ทรงรู้ข้อความตามหนังสือบอกของพระยากบินทร์นั้นแล้ว ก็ทรงพระราชดำริว่า ” พระยากบินทร์ลงใจแก่ราชการ โดยละเอียดอย่างยิ่ง จักหาขุนนางหัวเมืองสู้ยาก จึ่งพระราชทานเงินออกไปให้ใช้ ในการจัดการรับส่งเจ้าพระยานครราชสีมานั้น ๕๐ ชั่ง เสื้อผ้า ๒๐๐ สำรับ”

ในวันนั้น พอหนังสือบอกเมืองราชสีมา ซึ่งหลวงบุรินทร์ถือมาทางบกก็เถิงกรุงเทพฯ ทีหลังเมืองกบินทร์บุรีแปด ชั่วโมง วางยังศาลาเวรมหาดไทย เจ้าพระยาอภัยภูธร ที่สมุหนายก นำพาหลวงบุรินทร์ แลหนังสือบอกฉบับสำคัญนี้ขึ้นทูลเกล้า ทูลกระหม่อมอ่านถวาย ได้รู้ฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว ใจความว่า ” เจ้าอนุเวียงจันทร์ยกกองทัพใหญ่ ลงมาล้อมตีเมืองราชสีมา กวาดต้อนผู้คน ครัวสยามไปสิ้น แล้วเจ้าอนุตั้งค่ายอยู่นอกเมืองทำค่ายใหญ่โต คิดจักทำป้อมพูนดิน ทำสะพานข้ามคลองแลลำธาร ทางบกทางป่าเป็นที่มั่นแรมปี แลปลูกยุ้งฉางถ่ายเสบียงอาหารสะสมไว้มากมาย ทำการกวดขันแข็งแรมมาหลายวัน

คร้นภายหลัง เจ้าอนุเผาบ้านเรือนยุ้งฉาง ทำลายล้างกำแพงป้อมหอรบเสียสิ้นหมด ชั้นแต่ห้วยคลองที่เจ้าอนุคิด ทำสะพานนั้นก็ทำลายเผาหมด เจ้าอนุก็เผาค่ายที่อยู่เสียแล้วก็ยกล่าเลิกไปตั้งที่มั่นที่ ตำบลอื่น
ข้าพระพุทธเจ้า พระยาปลัด พระยายกกระบัตร พระณรงค์สงคราม พร้อมด้วย ท่านหญิงโม้ คิดร่วมใจกัน เป็นกลอุบายหลอกล่อลาวให้หลงกลอุบาย แล้วจึ่งได้คิดเป็นการจลาจลลุกขึ้นรบฆ่าลาวที่คุมครัวสยามเมืองราชสีมาไปเวียงจันทร์นั้นตายเสียมาก แล้วก็คิดแก้ไขกลับดี พาครัวคืนมาบ้านเมืองได้ แล้วได้แต่งกองทัพไปติดตามตีทัพลาวที่ล่าไปนั้น ได้สู้รบกันเป็นสามารถ ลาวแตกหนีไปเถิงสองตำบล ไพร่ลาวตายมาก สยามเก็บได้เครื่องศราตราาวุธ ช้าง ม้า โคต่าง เกวียน กระบือ แลจับได้ลาวเชลยนั้นมาก ลาวข้าศึกเสียค่ายแก่กองทัพเมืองราชสีมาเถิงสองตำบล รี้พลตายมากก็หนีเข้าป่าไปไกลแล้ว

ลาวได้ตั้งค่ายใหญ่อีกหลายตำบลในป่า กองทัพเมืองราชสีมาเหนเหลือกำลังจักตามตี ต่อไปไม่ได้ จีงได้กลับมารักษาบ้านเมืองไว้นี้ เตรียมการที่จักป้องกันบ้านเมืองต่อไป กับได้แต่งให้พระพลสงครามไปสืบดูลาวจักทำประการใด เหนลาวตั้งค่ายใหญ่มั่นอยู่ จักลงมาตีเมืองราชสีมาอีก ฤๅจักยกลงไปตีกรุงเทพฯ ทางเมืองนครนายกกบินทร์บุรี เมืองปราจีน บุรี หารู้เกล้ารู้กระหม่อมไม่ ควรมิควรแล้วแต่จักโปรดเกล้า ฯ ขอเดชะ ”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงรู้ข่าวศึกตามหนังสือบอกทั้งสามฉบับนั้นแล้ว จึ่งมีพระบรมราช โองการดำรัสสั่งให้ เจ้าพระยายมราช เจ้ากรมราชฑัณฑ์ ให้ถอดนักโทษพม่า แล ทวาย ที่ฉกรรจ์ออกจากคุก จักโปรดเกล้าฯ ให้ไปทัพต่อสู้กับลาว แล้วพระราชทานเสื้อผ้าเงินตราเป็นรางวัลแก่พม่า แลทวายเหล่านั้น ทั้งโปรดเกล้า ฯ
ให้ พระยาพิชัยบุรินทร์ กับ พระยาเพชรปาณี เป็นแม่ทัพคุมพม่าแลทวายรวมห้าร้อยคน รีบเร่งยกขึ้นไป ช่วยรักษาเมืองราชสีมาโดยเร็ว
ให้ พระยาสุรเสนา กับ พระยาอภัยโนริต เป็นแม่ทัพคุมพลห้าร้อย ยกขึ้นไปตั้งรับศึกลาวอยู่ที่ ตำบล บ่อโพง แขวงกรุงเก่า
ให้ เจ้าพระยาอรรคมหาเสนา(น้อย) ที่สมุหพระกลาโหม เป็นแม่ทัพบก คุมทหารพันหนึ่ง ไปตั้งค่าย รับศึกลาวอยู่ที่ตำบลเพนียดกรุงเก่า
ให้ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นเดชอดิศร เป็นแม่ทัพคุมพลทหารห้าร้อย ยกไปตั้งค่ายขึ้นไปรับศึกลาว อยู่ที่เมืองกบินทร์บุรี
ให้ พระยาพิชัยวารี(โต) เป็นแม่ทัพคุมพลทหารห้าร้อย ยกไปตั้งค่ายรับศึกลาวอยู่ที่ ตำบลท้อง ทุ่งสามเสน ริมวัดสะพานสูง ตั้งค่ายปีกกาโอบไปเถิงคลองซ่มป่อย
ให้ พระยาเดโชท้ายน้ำ เป็นแม่ทัพคุมพลห้าร้อย ยกไปตั้งค่ายรับศึกลาวอยู่ที่ท้องทุ่งสนามกระบือ หลัง วัดพรหมสุรินทร์ ตั้งค่ายปีกกาโอบหัวสวนขึ้นไปจนเถิงริมวัดช่องลม วัดดุสิต รอมคลองซ่มป่อยสามเสน
ให้ พระนครอินทรรามัญ กับ พระยาเกียรติ์รามัญ คุมพลทหารรามัญสามร้อย ยกไปตั้งค่ายระวังต้นทาง ด้านตะวันออกอยู่ที่ท้องทุ่งพระโขนง ชักปีกกาโอบไปเถิงบางพลี บางโฉลง บางวัว
ให้ พระยามหาอรรคนิกร แม่กองทหารปืนใหญ่ คุมพลทหารปืนใหญ่ห้าร้อย ไปทอดทุ่นขึงโซ่ปิดที่ ปากน้ำเมืองสมุทรปราการ ที่บนป้อมปีกกา ตามฝั่งหน้าเมืองสมุทรปรา การนั้น ก็ให้มีทหารปืนใหญ่ประจำรักษาครบหน้าที่ทุกป้อม พร้อม ด้วยกระสุนดินดำ
ให้ เจ้าพระยายมราช ให้จัดแจงตกแต่งการป้องกันรักษาพระนครทั้งปวงเป็นสามารถแข็งแรงยิ่งขึ้น เจ้าพนักงานลากปืนใหญ่ขึ้นประจำบนป้อมรบทุกป้อมรอบพระนคร แลประตูช่องกุฏ รอบกำแพงพระนครนั้น ให้มีไม้ซุงปักขัดขวางปิดบาน ประตูไว้ทุกประตูรอบพระนคร แต่ประตูใหญ่ตามกำแพงพระนครนั้น มีไม้ซุงขันช่อกว้านขึ้นแขวนไว้บนซุ้มประตู ๆ ละสามต้นสี่ต้น สำหรับ จักได้ตัดให้พลัดหล่นตกลงมาถูกข้าศึก เมื่อเข้ามาล้อมใกล้ทำลายประตูนั้น แลประตูคลองน้ำที่ใต้สะพานช้างริมกำแพงพระนคร ก็ให้มี ไม้ซุงปักเป็นเขื่อนปิดไว้ทุก ๆ ปากคลอง ที่กลางเขื่อนนั้นเปิดเป็นช่องเล็ก ๆ ไว้แต่พอให้เรือเล็กเรือน้อยแจวพายผ่านเข้าออกได้บ้าง เมื่อ เพลาข้าศึกยังไม่มาติดล้อมพระมหานคร
ให้ เจ้าพระยาพลเทพ จัดแจงตระเตรียมข้าวเปลือกยุ้งฉางหลวง จ่ายให้กองทัพให้พอราชการ แลให้ เจ้าพนักงานกรมนาขนข้าวเปลือกในฉางหลวง หน้าวัดมหาธาตุนอกกำแพงพระนคร เข้าไปไว้ในฉางหลวงเชิงสะพานช้างโรงสี ให้สิ้น ทุกฉาง จักได้จับจ่ายใช้ราชการเมื่อศึกมาติดชานกำแพงพระนคร
ให้ กรมพระสุรัสวดี เกณฑ์เลขสมกำลังในพระราชวงศานุวงศ์ แลข้าทูลละอองพระบาททั้งหลาย มา รวบรวมเป็นหมู่เป็นกอง ให้มีนายกองนายหมวดควบคุม ขึ้นประจำซองรักษาหน้าที่เชิงเทิน บนกำแพงพระนครทุกด้านรอบพระนคร มีเครื่อง สรรพาวุธประจำครบมือทุกคน เพลากลางคืนมีกองตรวจตราตระเวณตลอดรุ่งรอบพระนคร จัดแจงการป้อง กันรักษาพระนครโดยสามารถ
ให้ เจ้าพระยาอรรคมหาเสนาบดี ที่สมุหพระกลาโหม มีท้องตราพระคชสีห์
ให้ พระยาศรีสรราช กับ พระสุรินทรามาตย์ ออกไปเกณฑ์กองทัพหัวเมือง ปักษ์ใต้ ให้ได้คนหมื่นหนึ่ง ในท้องตรานั้น
ให้ เจ้าพระยานครศรีธรรมราช เป็นแม่ทัพถืออาญาสิทธิ์คุมทัพเรือเข้าามาช่วยราชการ สงครามป้องกันรักษาพระนครโดยเร็ว
แล้ว มีท้องตราพระคชสีห์ อีกสามฉบับ
เถิง พระยาราชบุรี พระยาเพชรบุรี พระยาสมุทรสงคราม ให้ขนข้าวเปลือกมาเพิ่มเติม ในกรุงเทพฯ จักได้จับจ่ายให้เป็นกำลังแก่กองทัพหัวเมืองปักษ์ใต้ แลกองทัพในกรุงที่รักษาพระนครด้วย
แล้ว มีท้องตราพระคชสีห์ อีกสามฉบับ
เถิง พระยาสุพรรณ แล พระยาอุทัยธานี ให้เกณฑ์กองทัพออกไปรักษ ด่านข้าง ฝ่ายพรมแดนติดพม่า
เถิง พระยากาญจนบุรี ให้เกณฑ์กองทัพไปรักษาด่านข้างชายแดนพม่า อย่าให้มีเหตุเภท ภัยร้ายแรงขึ้นได้
แล มีพระบรมราชโองการ
ให้ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เป็นแม่ทัพหลวงถืออาญาสิทธิ์ คุมทหารฉกรรจ์ลำเครื่องในกรุง แล หัวเมืองหมื่นเศษ โดยให้กรมพระราชวังบวรฯ เสด็จขึ้นไปพักพลที่เมืองสระบุรีก่อน เพื่อจักได้รวบรวมพลหัวเมืองฝ่ายเหนือ จักมาพร้อม รวมพลกันที่นั้น
ครั้น ณ วันเสาร์ เดือนสี่ ขึ้นห้าค่ำ ปีจอ อัฐศก ได้มหาพิชัยฤกษ์อันอุดม กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เสด็จลงสู่เรือพระที่นั่ง เมื่อจันทร์จรเข้าเสวยพระฤกษ์ พฤฒามาตยาจารย์ ตัดไม้ข่มนามตามตำหรับไสยเวทย์พิไชยสงคราม เจ้า พนักงานเป่าแตรสังข์ พลปืนใหญ่ยิงปืนรับพระฤกษ์สามชุด จึ่งเคลื่อนพลนาวาออกไปตามแม่น้ำเจ้าพระยามุ่งเหนือ ทรงเสด็จขึ้นที่ท่าเรือ พระพุทธบาท แขวงเมืองสระบุรี เพื่อคอยกองทัพหัวเมืองที่ยังมาไม่พร้อมตามเกณฑ์

…ยังมีต่อ

Leave a Reply