ตำนานตาแหลว

ตำนานตาแหลว

2010920465

ณ เมืองหิรัญนครเงินยาง มีกษัตริย์ครองเมือง ชื่อ “ขุนเติง” กษัตริย์องค์นี้ ชอบเข้าป่าล่าสัตว์เป็นประจำ ครั้งหนึ่งได้ปัสสาวะลงในบ่อหิน เผอิญลูกสาวของพญานาคในสภาพที่แปลงกายเป็นลิงไปกินน้ำปัสสาวะนั้น และตั้งครรภ์ขึ้นในเวลาต่อมา

การตั้งครรภ์ของนาง เป็นเหตุให้นางหลงรักขุนเติง เพราะรู้สาเหตุว่าเกิดจากการดื่มน้ำปัสสาวะของขุนเติง ความรักนี้ทำให้นางแปลงกายเป็นหญิงงามอยู่ในวิมานใต้ต้นไม้ แล้วเนรมิตกวางทองไปล่อให้ขุนเติงไล่ตาม จนพลัดหลงจากบริวารมาถึงวิมานของนาง แล้วได้อยู่กินร่วมกันอย่างมีความสุข

วันหนึ่ง นางลิงอยากเล่นสนุกสนานตามวิสัยของสัตว์ จึงให้ขุนเติงอยู่ในวิมาน ส่วนนางเอาผ้าม่านกั้นระหว่างใต้ต้นไม้กับบนต้นไม้ แล้วขึ้นไปเล่นกับพวกลิง และสัตว์ต่างๆ อย่างสนุกสนาน ส่งเสียงอึกทึกกันอยู่ ส่วนขุนเติงอยู่ในวิมานรู้สึกรำคาญเสียงนั้น จึงเอามีดกรีดผ้าม่านดู จึงเกิดความหดหู่ใจ ถึงขั้นบอกลานาง ซึ่งนางก็เข้าใจในความรู้สึก

ก่อนจากกัน นางลิงได้รีดเอาลูกในท้องออก แล้วเอาใบ “ตองตึง” (ใบพลวง) ห่อไว้ จากนั้นได้รีดนมใส่กระบอกไม้ นางมอบให้ขุนเติง โดยสั่งเสียว่าเมื่อไปถึงเมืองให้เอาเด็กออกแล้วให้นมในกระบอกเป็นอาหาร หากเด็กโตขึ้นให้มีชื่อว่า “ขุนตึง” เพราะถูกห่อด้วยใบตองตึง

ขุนตึง โตขึ้นตามกาลเวลาจนอายุได้ ๑๖ ปี ครั้งหนึ่ง ได้เข้าป่าล่าเนื้อและได้พบกับแม่ลิงโดยบังเอิญ แม่ลิงได้พาขุนตึงไปหาพญานาค ซึ่งเป็นตาของขุนตึง ครั้งนั้นแม่ลิงให้ขุนตึงขอของวิเศษ ๒ อย่าง จากพญานาคได้แก่ “หม้อแกงตองบ่จ่าย” (หม้อแกงโลหะที่ไม่ต้องใช้เงินจ่ายแต่ก็มีกิน) และ “ขอขวักไขว่แปลงเมือง” (ตะขอที่เนรมิตเมืองได้) ทั้งสองอย่างมีวิธีใช้คือถ้าจะใช้หม้อแกงให้ยกขึ้นตั้งบนเตา บอกว่าจะปรุงอาหาร จะมีเนื้อมีปลาปรากฏในหม้อ อาหารที่อยู่ในหม้อจะสามารถเลี้ยงคนนับหมื่นนับแสน ส่วนตะขอนั้นให้เอาแขวนไว้ในบริเวณที่จะนอนหากจะสร้างบ้านเมืองที่ใดให้เอาตะขอนั้นกวัดแกว่งในเวลากลางคืนจะเกิดบ้านเมืองขึ้นทันตาเห็น

วันที่ขุนตึงเดินทางกลับเมือง ระหว่างทางเขาพบชัยภูมิแห่งหนึ่งเหมาะที่จะสร้างเมือง จึงแวะพักนอนค้างคืน ก่อนนอนได้เอาตะขอเกี่ยวกิ่งไม้ไว้บนหัวนอน ตกดึกขุนตึงยกตะขอขึ้นกวัดแกว่งจึงเกิดบ้านเรือน ผู้คนและสัตว์เลี้ยงขึ้นในทันทีทันใด และในเมืองนั้น ผู้คนไม่ต้องหุงหาอาหาร เพราะมีหม้อวิเศษเป็นแหล่งอาหารอยู่แล้ว ขุนตึงได้ขึ้นครองเมืองใหม่เป็นปฐมกษัตริย์แต่นั้น

กล่าวถึงบรรดาสัตว์ป่าทั้งหลายที่เคยเป็นบริวารของนางลิง ต่างพากันดีใจที่บุตรชายของเจ้านายได้ครองเมืองจึงพากันมุ่งหน้าเข้าสู่เมืองเป็นโกลาหล ขุนตึงพยายามควบคุมให้สัตว์อยู่ในความสงบ แต่ต่อมาสัตว์เหล่านั้น ก็ไปเหยียบย่ำกัดกินพืชไร่ของชาวเมือง ทำให้เดือดร้อนไปทั่ว

นานวันสัตว์ทั้งหลายยิ่งสร้างความเดือนร้อนขึ้นเรื่อย ขุนตึงจึงไปขอให้ “พญาแหลว” (พญาเหยี่ยว) มาจับจ้องคอยดูแล แรกๆ สัตว์ก็เกรงกลัวขณะที่พญาแหลวจับตามอง แต่คราวใดที่พญาแหลวไม่อยู่ ก็จะพากันออกมาขโมยพืชไร่ สุดท้ายพญาแหลวก็ไม่สามารถดูแลได้ตลอดเวลา

ความนี้ทราบถึงนางลิงผู้เป็นนายของสัตว์ป่า นางได้แนะนำให้ขุนตึงสานตอกให้มีรูป “ดวงตา” ของ “แหลว” ไปปักไว้ในที่ต่างๆ ที่เคยถูกรบกวน เมื่อสัตว์เห็นเป็นดวงตาของแหลวจะไม่กล้าทำลายพืชพันธุ์ เพราะเข้าใจว่าพญาแหลวคอยจ้องดูอยู่ นางแนะนำเช่นนั้นแล้วก็ไปสั่งกำชับสัตว์บริวารว่าตราบใดที่เห็นตาแหลวปรากฏอยู่ที่ใดก็ตาม ห้ามเข้าไปรบกวนบริเวณนั้นโดยเด็ดขาด
ตั้งแต่นั้นมา ชาวบ้านจึงนิยมสานตาแหลวปักไว้ตามท้องนาท้องไร่เพื่อป้องกันพืชผล และนอกจากนี้ยังนิยมใช้ประกอบพิธีตามความเชื่อเพื่อป้องกันภัยอันตราย ในลักษณะเดียวกันด้วย. 

ที่มา: http://www.yimwhan.com/board/show.php?user=auto&topic=17&Cate=1

Leave a Reply