วีรกรรมดอนแตง: “ถ้าไม่ได้ศพคืนก็ต้องเพิ่มศพเข้าไป”

วีรกรรมดอนแตง: “ถ้าไม่ได้ศพคืนก็ต้องเพิ่มศพเข้าไป”

(ภาพจาก บางกอกรายสัปดาห์ ฉ.2584 หน้า 62)

เมื่อสายลมอันเยือกเย็นของเดือนพฤศจิกายนเวียนกลับมาพร้อมกับสายน้ำที่เอ่อล้นริมตลิ่ง  ผู้คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงความสนุกสนานในเทศกาลลอยกระทง  ซึ่งเป็นประเพณีเก่าแก่ที่สืบสานกันมาแต่ครั้งโบราณกาล

แต่สำหรับเหล่าทหารเรือโดยเฉพาะลูกประดู่แห่งหน่วย นปข. หรือหน่วยปฏิบัติการตามลำแม่น้ำโขง

กระแสลมและสายน้ำแห่งเดือนพฤศจิกายนไม่ต่างอะไรกับสัญญาลักษณ์และเครื่องเตือนใจให้พวกเขารำลึกนึกถึงการปฏิบัติหน้าที่อย่างห้าวหาญของลูกนาวีไทยเมื่อครั้งอดีต ซึ่งยังคงเป็นที่กล่าวขานและรู้จักกันในนาม “วีรกรรมดอนแตง’

ย้อนหลังไปเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2518  ไกลออกไปจากกองบัญชาการกองทัพเรือราชวังเดิม กรุงเทพมหานคร หลายร้อยกิโลเมตร

ที่สถานีเรือตรวจการณ์ตามลำแม่น้ำโขง อำเภอศรีเชียงใหม่  เรือเอกเทิดศักดิ์ ซึ่งทำหน้าที่ผู้บังคับหมู่เรือ นปข. จังหวัดนองคาย ได้รับแจ้งจากสายข่าวว่า

จะมีการลักลอบขนอาวุธและยุทธปัจจัยข้ามมาจากฝั่งลาวบริเวณอำเภอถ้ำบ่อ จังหวัดหนองคาย  ในเขตบ้านกองนาง เพื่อนำไปสนับสนุนกองกำลังของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ซึ่งในขณะนั้นพื้นที่หลายแห่งในเขตภาคอีสานยังเป็น “พื้นที่สีแดง’ ที่ถูกคุกคามจากกองกำลังพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

ภารกิจหนึ่งของหน่วยปฏิบัติการตามลำแม่น้ำโขงกองทัพเรือ จึงเป็นการสกัดกั้นขัดขวางมิให้ฝ่ายตรงข้ามเคลื่อนไหวสนับสนุนผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในเขตไทยได้อย่างที่ต้องการ

ครั้นถึงเวลาเก้าโมงเช้า   เรือตรวจการณ์ลำน้ำหมายเลข 123  หรือเรือ ล.123  ซึ่งมีเรือตรีโชติ  แทนศิริ  ทำหน้าที่ควบคุมเรือ พันจ่าตรีปรัศน์  พงษ์สุวรรณ  ทำหน้าที่พันจ่าประจำเรือและเป็นผู้ถือท้าย จ่าตรีบัญญัติ  มากุล  ทำหน้าที่จ่าปืน  และมีจ่าพรรคกลินอีก 1 นาย ทำหน้าที่เป็นช่างกลประจำเรือ

เรือตรวจการณ์ลำน้ำ หมายเลข 123  หรือเรือ ล-123 ซึ่งมีความกว้าง 11 ฟุต  ยาว 31 ฟุต กินน้ำลึก 2 ฟุต  ระวางขับน้ำเต็มที่ 7.5 ตัน ได้แล่นสังเกตการณ์ความเคลื่อนไหวของฝ่ายตรงข้ามอยู่ในเขตไทยโดยหันกราบขวาเข้าหาฝั่งลาว

 

(ภาพจาก บางกอกรายสัปดาห์ ฉ.2584 หน้า 62)

จนกระทั่งในเวลา 1253  ขณะที่เรือตรวจการณ์ ฯ 123  แล่นไปถึง “ดอนแตง’

กำลังของฝั่งตรงข้ามซึ่งปักหลักอยู่บนฝั่งลาวได้ระดมยิงข้ามแม่น้ำเข้าใส่เรือ ล-123  โดยเป็นการระดมยิงด้วยอาวุธหนักจากฐานที่ตั้งยิง 5 จุด

เรือ ล-123  จึงรีบเบนเข็มและเร่งความเร็วแล่นหลบวิถีกระสุนมุ่งลงสู่ทิศใต้พร้อมกับวิทยุขอความช่วยเหลือ แจ้งสถานการณ์ฉุกเฉินไปยังสถานีเรือ อำเภอศรีเชียงใหม่

ทันทีที่ได้รับแจ้งเหตุ เรือเอกเทิดศักดิ์ ผู้บังคับหมู่เรือจึงสั่งให้เรือ ล-128  เดินทางออกจากสถานีไปยังจุดปะทะ  เพื่อให้ความช่วยเหลือเรือ ล-123 อย่างเร่งด่วน

ส่วนเรือ ล-123 เมื่อทราบว่ากำลังจะมีฝ่ายเดียวกันเข้ามาสมทบ จึงเลี้ยวกลับลำแล่นย้อนขึ้นไปทางด้านเหนือเพื่อทำการต่อสู้กับข้าศึก

ครั้นถึงเวลาบ่ายโมง 15 นาที  เรือ ล-123  ผู้ควบคุมมองเห็นเรือ ล-128  แล่นออกมาทางร่องน้ำดอนแตงกับฝั่งไทย  เรือ ล-123  จึงแล่นเข้าสมทบเพื่อให้ฝ่ายเรามีอำนาจการยิงเพิ่มขึ้น

จังหวะนี้เองที่เรือ ล-123 ถูกข้าศึกระดมยิงอย่างหนัก  กระสุนนัดหนึ่งพุ่งเข้าที่กลางแสกหน้าของพันจ่าตรีปรัศน์ซึ่งเป็นผู้ถือพังงาเรือ ทำให้เรือ ล-123 เสียการควบคุมและพุ่งหัวเข้าเกยตื้นอยู่ทางด้านใต้ของดอนแตงในลักษณะเกยหัวขึ้น

เมื่อสถานการณ์บานปลายออกไป ผู้ควบคุมเรือ ล-128 จึงได้วิทยุรายงานไปยังสถานีเรือและแจ้งให้ทราบว่าจะพยายามให้ความช่วยเหลือเรือ ล-123 ในเบื้องต้นที่จะสามารถกระทำได้

 

(ภาพจาก บางกอกรายสัปดาห์ ฉ.2584 หน้า 63)

แต่ปฏิบัติการของเรือ ล-128 กลับถูกขัดขวางจากข้าศึกและสถานการณ์ของลูกนาวีไทยก็เหมือนจะคับขันอันตรายมากขึ้น เมื่อปรากฏรถถังของฝ่ายลาวจำนวน 4 คัน แล่นเข้ามาประชิดชายฝั่งหันป้อมปืนออกสู่แม่น้ำเล็งมายังฝั่งไทย

ขณะเดียวกันเรือตรวจการณ์ตามลำน้ำของฝ่ายลาวอีก 3 ลำ  ได้แล่นในรูปขบวนเรียงตามกันมุ่งหน้าเข้าสู่บริเวณที่เป็นจุดปะทะ โดยมีระยะห่างระหว่างลำ 500 เมตร

เรือตรวจการณ์ของฝ่ายลาวแล่นขนานกับชายฝั่งของตน โดยหันข้างให้กับเรือ ล-123 จากนั้นอาวุธจากเรือของฝ่ายลาว รวมทั้งปืนรถถังตลอดจนกำลังทหารราบที่อยู่บนชายฝั่งได้ระดมยิงเข้าใส่เรือตรวจการณ์ตามลำน้ำของฝ่ายไทยทั้งสองลำอย่างถี่ยิบ

แม้จะตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ แต่ลูกนาวีไทยบนเรือ ล-123 และ ล-128 ก็ยิงระดมต่อสู้กับข้าศึกอย่างสุดความสามารถ ขณะที่ผู้ควบคุมเรือแจ้งสถานการณ์คับขันไปยังหน่วยเหนือ โดยระบุว่าเป็นการสู้รบเต็มรูปแบบและเรือทั้งสองลำยังไม่สามารถถอนตัวออกไปได้

ครั้นถึงเวลาบ่ายโมงยี่สิบนาที ทหารนาวิกโยธินจากหน่วยเฉพาะกิจได้เคลื่อนกำลังเข้าประจำแนวบนฝั่งไทยและระดมยิงคุ้มกันให้แก่เรือทั้งสองลำ โดยมีเรือเอกประสาน  จันทร์รัศมี นายทหารของหมู่เรือ นปข. ทำหน้าที่นายทหารติดต่อระหว่างกำลังบนฝั่งกับเรือ ล-123 และ ล-128

สิบนาทีต่อมา เรือ ล-125 ออกเดินทางจากสถานีเรืออำเภอศรีเชียงใหม่เข้าสมทบกับเรือ ล-123 และ เรือ ล-128 โดยผู้ควบคุมเรือยอมเสี่ยงอันตรายแล่นฝ่ากระสุนเข้ามาทางร่องน้ำด้านในระหว่างดอนแตงกับฝั่งไทย

ตลอดเวลานั้น เรือ ล-123 ซึ่งเกยตื้นอยู่พยายามที่จะแล่นถอยท้ายออกมา แต่ก็ยังไม่สำเร็จและยังคงถูกข้าศึกระดมยิงอย่างหนัก

เรือ ล-123 พยายามยิงต่อสู้จนกระทั่งกระสุนของปืนทุกกระบอกที่อยู่บนเรือหมดลง

ในที่สุดเมื่อถูกฝ่ายลาวระดมยิงหนักหน่วงมากขึ้นและการอยู่ในพื้นที่เปิดโล่งจะทำให้เกิดอันตรายและฝ่ายเราสูญเสียมากขึ้น เรือ ล-128 และเรือ ล-125 จึงตัดสินใจถอนตัวออกมาจากยุทธบริเวณ

(ภาพจาก บางกอกรายสัปดาห์ ฉ.2584 หน้า 63)

ครั้นถึงเวลาบ่ายสามโมงยี่สิบห้านาที ทหารนาวิกโยธินซึ่งวางกำลังสนับสนุนอยู่บนฝั่งไทยได้ตัดสินใจเคลื่อนกำลังข้ามไปยังดอนแตง เพื่อให้ความช่วยเหลือเรือ ล-123

แม้ในเบื้องต้น ฝ่ายเราจะยังไม่สามารถกู้เรือได้และต้องให้ความช่วยเหลือกำลังพลประจำเรือ ท่ามกลางสะเก็ดระเบิดจากการระดมยิงของปืนใหญ่ข้าศึกที่ปลิวว่อน

แต่ทหารนาวิกโยธินก็สามารถช่วยเหลือกำลังพลประจำเรือ ล-123 ออกจากพื้นที่ปะทะได้ทั้งหมด คงเหลือเพียงศพของพันจ่าตรีปรัศน์  พงศ์สุวรรณ ซึ่งเสียชีวิตคาอยู่กับตำแหน่งถือท้ายพังงาเรือ

เวลาบ่ายสามโมงสี่สิบนาที ทหารนาวิกโยธินพร้อมผู้บาดเจ็บทั้งหมดได้ถอนตัวออกจากดอนแตง โดยมีกระสุนของฝ่ายลาวไล่หลังไม่ขาดระยะ

เวลาสี่โมงสิบห้านาที ทหารนาวิกโยธินได้ตรึงกำลังอยู่บนฝั่งไทยใกล้กับดอนแตง ส่วนผู้บาดเจ็บจากเรือ ล-123 และเรือ ล-128 ถูกส่งตัวไปยังโรงพยาบาลนครพนม เพื่อปฐมพยาบาลให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้น ก่อนที่จะส่งตัวกลับทางเครื่องบินในวันรุ่งขึ้น

จากการปะทะในระลอกแรก นอกเหนือจากพันจ่าตรีปรัศน์  พงศ์สุวรรณ   ซึ่งถูกยิงเสียชีวิต   ฝ่ายเราได้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ   3 นาย ได้แก่ จ่าเอกบัญญัติ  มากุล  จ่าปืนเรือ ล-123   ถูกกระสุนและสะเก็ดระเบิดที่แขนและที่ขา  ขณะทำการยิงตอบโต้กับฝ่ายลาวได้รับบาดเจ็บสาหัส จ่าเอกวิรัช อุดรวงศ์  จ่าปืนเรือ ล-128  ถูกยิงที่ขาทะลุได้รับบาดเจ็บสาหัสเช่นกัน

คงมีเพียงจ่าเอกคงฤทธิ์  ศรีสม จ่าช่างกลเรือ ล-128  เท่านั้นที่โชคดีกว่าใครเพื่อน เพราะกระสุนของฝ่ายลาวเฉี่ยวแก้มซ้ายได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย

ครั้นถึงเวลาห้าโมงสิบนาที ทหารลาวได้ระดมปืนซัลโวเข้าใส่เรือ ล-123  ซึ่งเกยตื้นอยู่บนดอนแตงอีกครั้งหนึ่ง หมายที่จะทำลายเรือให้พินาศ

ฝ่ายเราจึงขอรับการสนับสนุนเครื่องบินแบบ ที-28 ทำการโจมตีกดดันข้าศึก เมื่อเครื่องบินของฝ่ายเราปรากฏตัวขึ้น ทหารลาวจึงหยุดยิง ที-28 จึงออกจากยุทธบริเวณในเวลาใกล้ค่ำ

เวลาหกโมงสิบห้านาที สถานการณ์ดูเหมือนจะยุติลงชั่วขณะ แต่ทั้งสองฝ่ายยังคงปักหลักคุมเชิงเฝ้าระวังอยู่อย่างเต็มที่

หน่วยปฏิบัติการตามลำน้ำโขงได้ส่งทหารนาวิกโยธินพร้อมอาวุธเข้าไปสมทบเพิ่มเติมกำลังอีกหนึ่งหมวด ขณะเดียวกันกองทัพภาคที่ 2 ส่วนหน้า ได้ส่งกำลังทหารราบพร้อมด้วยรถถัง 1 คัน รถสายพานลำเลียงติดตั้งปืน ค. 4.2 นิ้ว และกำลังตำรวจตระเวนชายแดนอีกหนึ่งหมวดเข้ามาให้การสนับสนุน

ส่วนกำลังของฝ่ายลาวในรายงานของหน่วย นปข. เขต 1 นครพนม ระบุว่า ประกอบด้วยเรือตรวจการณ์ลำน้ำ 2 ลำ รถถัง 4 คัน ทหารราบวางกำลังตามชายฝั่ง 4 จุด สนับสนุนด้วยปืนใหญ่ขนาด 75 มิลลิเมตร ไม่ทราบจำนวนที่แน่ชัด

โดยสายการบังคับบัญชาในช่วงเวลานั้น หน่วยปฏิบัติการตามลำน้ำโขงแม้จะเป็นกำลังของกองทัพเรือ แต่ก็ขึ้นตรงกับแม่ทัพภาคที่ 2

ดังนั้นในเวลาต่อมา ในคืนวันนั้นแม่ทัพภาค 2 จึงมีคำสั่งให้กำลังของทุกหน่วยที่อยู่ในพื้นที่ปะทะปฏิบัติภารกิจร่วมกันในการแย่งยึดเรือ นปข. กลับคืนมาให้ได้ รวมทั้งให้ปฏิบัติการทุกวิถีทางเพื่อสกัดกั้นป้องกันฝ่ายตรงข้ามส่งกำลังเข้ามายึดเรือ ล-123  หรือเคลื่อนย้ายเรือออกจากดอนแตง

กรณีที่ผู้บังคับหน่วยในพื้นที่ต้องการจะ “ทำลายเรือ’ เนื่องจากไม่สามารถกู้เรือกลับคืนมาได้ ให้ขออนุมัติทำลายไปยังหน่วยเหนือเสียก่อน

ในคืนวันเดียวกัน กองทัพภาคที่ 2 ได้สั่งให้เพิ่มเติม “อาวุธหนัก’ เข้าไปยังพื้นที่ ประกอบด้วยปืน ค. 2 กระบอก ปืนไร้แรงสะท้อน 2 กระบอก โดยตั้งฐานยิงที่บ้านโพนสา รวมทั้งยังมีคำสั่งให้ทหารราบอีก 1 กองร้อยพร้อมอยู่ในที่ตั้ง สามารถเคลื่อนย้ายกำลังได้ทันทีเมื่อได้รับคำสั่ง

ครั้นถึงเวลาเที่ยงคืนครึ่ง กำลังทหารนาวิกโยธินอีกหนึ่งหมวดจากหน่วยปฏิบัติการตามลำน้ำโขงนครพนม ได้เดินทางมาสมทบกำลังส่วนแรก

หลังจากนั้นในเวลาตีหนึ่งห้าสิบนาที กำลังทหารบกจากหน่วยผสมที่ 13 ได้เดินทางไปยังพื้นที่ปะทะ

ครั้นถึงเวลาตีสี่ของวันที่ 18 พฤศจิกายน ฝ่ายเราตรวจพบความเคลื่อนไหวของข้าศึกในความมืด ลักษณะเหมือนพยายามที่จะเข้าใกล้ดอนแตงเพื่อยึดเรือหรือทำลายเรือ

ผบ.ยุทธบริเวณจึงสั่งให้ใช้ปืน ค. ยิงกระสุนส่องสว่างและกระสุนระเบิดเพื่อเป็นฉากคุ้มกันไม่ให้ข้าศึกเข้าใกล้เรือ ล-123 ที่เกยตื้นอยู่บนดอนแตงได้อย่างที่ต้องการ

เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นพร้อม ๆ กับการปรากฏตัวของเครื่องบินกองทัพอากาศ ฝ่ายเราจึงส่งทหารนาวิกโยธินขึ้นไปบนดอนแตงเมื่อเวลาหกโมงครึ่ง

แต่ขณะที่ทหารนาวิกโยธินคืบคลานเข้าไปใกล้เรือ

ทหารลาวได้เปิดฉากระดมยิงสกัดกั้นอย่างหนักหน่วงรุนแรง ฝ่ายเราได้ตอบโต้ด้วยปืนไร้แรงสะท้อน ปืน ค. และปืนใหญ่รถถัง

การปะทะดำเนินไปอย่างดุเดือด ก่อนที่ฝ่ายเราจะถูกยิงกดดันอย่างหนักจนต้องถอนตัวกลับออกมา โดยมีนาวิกโยธินได้รับบาดเจ็บหนึ่งนาย

ครั้นถึงเวลาเก้าโมงสี่สิบห้านาที เครื่องบินของกองทัพอากาศได้เข้าโจมตีเรือรบลาวทั้งสองลำที่แล่นเข้ามาใกล้ดอนแตง

สถานการณ์ส่อเค้าว่าจะยืดเยื้อและบานปลายมากยิ่งขึ้น แต่ขวัญกำลังของฝ่ายเรายังคงเต็มเปี่ยม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพลเรือเอก “สงัด  ชะลออยู่’ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและรักษาราชการผู้บัญชาการทหารเรือในขณะนั้นเดินทางไปยังแนวหน้า เพื่อติดตามสถานการณ์และอำนวยการปฏิบัติด้วยตนเอง

เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ พลเรือเอกสงัด ชลออยู่  ได้ลั่นวาจาที่ตราตรึงอยู่ในหัวใจของลูกนาวีไทยมาจนทุกวันนี้ว่า

“หากไม่ได้ศพคืน ต้องเพิ่มศพเข้าไป’

ในเวลาสิบโมงสิบห้านาที ของวันที่ 18 พฤศจิกายน นาวิกโยธินของไทยได้พยายามที่จะกู้เรือและนำศพผู้เสียชีวิตกลับมาอีกครั้ง โดยนาวิกโยธินได้ขึ้นสู่หาดดอนแตง โดยมีทหาร 3 นาย ได้รับมอบหมายให้คืบคลานไปยังเรือ เพื่อนำศพพันจ่าตรีปรัศน์  พงศ์สุวรรณ ออกมาจากพังงาถือท้าย

แต่ขณะที่นาวิกโยธินอยู่ห่างจากเรือ ล-123 ประมาณ 30 เมตร ทหารลาวได้กระทำการระดมยิงอย่างหนักหน่วงอีกครั้งหนึ่ง

ฝ่ายเราจึงตอบโต้ด้วยอาวุธหนักและเครื่องบินที่เข้าโจมตีกดดันคุ้มกันให้แก่ปฏิบัติการของนาวิกโยธินที่อยู่บนดอน

ในเวลาสิบโมงครึ่ง เรือตรวจการณ์ของฝ่ายลาวถอนตัวออกจากพื้นที่ปะทะหลังจากถูกระดมยิงด้วยปืนกลอากาศจากเครื่องบินฝ่ายไทย ส่วนทหารนาวิกโยธินมีผู้ได้รับบาดเจ็บหนึ่งนายคือ จ่าเอกพงษ์ศักดิ์ เกียรติชัย ถูกกระสุนที่ลำคอ

เมื่อถึงตอนนั้น ฝ่ายเราประเมินสถานการณ์แล้วว่า ปฏิบัติการในเวลากลางวันคงไม่ได้ผล

การนำศพผู้เสียชีวิตออกจากเรือจึงถูกกำหนดให้เป็นการปฏิบัติภารกิจในเวลากลางคืน เพื่ออาศัยความมืดเป็นฉากกำบัง

ในการนี้ฝ่ายวางแผนได้กำหนดให้ใช้นักทำลายใต้น้ำจู่โจมหรือ “มนุษย์กบ’ จากเกาะพระแทรกซึมเข้าไปยังพื้นที่เป้าหมาย

ขณะที่ฝ่ายเรากำลังเตรียมการและรอคอยเวลาให้พระอาทิตย์ตกดิน

(ภาพจาก บางกอกรายสัปดาห์ ฉ.2584 หน้า 63)
ฝ่ายลาวได้ข่มขวัญกำลังของฝ่ายไทย โดยในเวลาบ่ายสองโมง มีเครื่องบินไอพ่นความเร็วสูงเครื่องหนึ่งบินผ่านดอนแตงในระยะค่อนข้างต่ำ เครื่องบินลำดังกล่าวมีทิศทางมาจากเวียงจันทร์มุ่งลงสู่ทิศใต้

และเมื่อถึงเวลาสี่โมงสี่สิบนาที ฝ่ายเราตรวจพบความเคลื่อนไหวของทหารลาวที่เพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติ

กล่าวคือมีเรือแอลซีวีพี. ซึ่งเป็นเรือระบายพลขนาดเล็ก 1 ลำ จอดอยู่บริเวณชายฝั่ง โดยมีเรือตรวจการณ์ลำน้ำขนาดใหญ่อีก 2 ลำ จอดอยู่ใกล้ ๆ ลักษณะเหมือนกับเรือแอลซีวีพี. จะถูกใช้ในการแล่นเข้าเกยหาดดอนแตง เพื่อส่งทหารขึ้นปฏิบัติการ ภายใต้การคุ้มกันของเรือขนาดใหญ่  2 ลำ

นอกจากนี้ยังตรวจพบรถถังของฝ่ายลาวแล่นเข้ามาจอดตลอดแนวชายฝั่งตั้งแต่เขตบ้านโพนสาจนถึงบ้านกองนาง

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายลาวมิได้มีปฏิบัติการใด ๆ อย่างที่แสดงท่าทีออกมา

ต่อมาเมื่อเวลาห้าโมงเย็น เฮลิคอปเตอร์ของกองทัพอากาศได้บินมารับหน่วยทำลายใต้น้ำจู่โจมหรือมนุษย์กบจำนวน 5 นาย จาก บก. หน่วย นปข. นครพนมไปยังพื้นที่เกิดเหตุ เพื่อเตรียมพร้อมขั้นสุดท้ายก่อนที่จะเริ่มปฏิบัติการในเวลากลางคืน

ครั้นถึงเวลาหกโมงสิบห้านาที เมื่อพระอาทิตย์ลับไปจากขอบฟ้า เครื่องบินตรวจการณ์ของกองทัพบกได้ยกเลิกภารกิจบินออกจากยุทธบริเวณ

จนกระทั่งถึงเวลาสามทุ่มของวันที่ 19 พฤศจิกายน ปฏิบัติการกู้ศพและสำรวจเรือของฝ่ายเราจึงได้เริ่มต้นขึ้น

มนุษย์กบทั้ง 5 นาย คุ้มกันด้วยนาวิกโยธิน 1 หมู่ ได้คืบคลานขึ้นสู่ดอนแตงและสามารถเข้าประชิดเรือได้สำเร็จ

ขณะปฏิบัติภารกิจ ฝ่ายเราตรวจพบทหารลาวจำนวน 2-3 นาย ขึ้นมาอยู่บนอีกฝั่งหนึ่งของดอนแตงเช่นกัน  แต่เนื่องจากความมุ่งหมายของภารกิจในขณะนั้นคือการกู้ศพผู้เสียชีวิต   ฝ่ายเราจึงไม่ได้ดำเนินการใด ๆ กับหน่วยสอดแนมของฝ่ายลาวที่ตรวจพบ

เรือเอกอนุวัฒน์ บุญธรรม ( ยศในขณะนั้น ) ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมมนุษย์กบเปิดเผยในภายหลังว่า

“ปฏิบัติการในครั้งนั้นเสร็จสิ้นเมื่อเวลาตีหนึ่งเศษ ๆ ฝ่ายเราสามารถนำผู้เสียชีวิตกลับออกมาได้ สภาพศพของพันจ่าปรัศน์ขณะที่เข้าไปพบอยู่ในลักษณะกึ่งนั่งกึ่งนอนหลังพิงพนัก เสียชีวิตอยู่ในห้องเรดาร์

มือขวากำไมค์วิทยุ มือซ้ายจับพังงาเรือ มีรอยกระสุนยิงที่กลางแสกหน้า ศพยังอยู่ในสภาพสวมหมวกเหล็กและเสื้อชูชีพ

จากการสังเกตสภาพทั่วไปในความมืด เรือ ล-123  ตัวเรือยังเป็นปกติ แต่มีร่องรอยกระสุนเป็นจำนวนมาก หัวเรือเกยหาดขึ้นมาสูงกว่าด้านท้ายเรือ ซึ่งจมอยู่ในน้ำประมาณครึ่งฟุต คาดว่าการจะดึงให้ถอนตัวออกมาคงจะกระทำได้ยาก

แม้จะกู้ศพผู้เสียชีวิตออกมาได้สำเร็จ แต่เรือ ล-123 ยังคงค้างอยู่บนดอนแตงในลักษณะเดิมอีกหลายวัน ก่อนที่สถานการณ์จะคลี่คลายลงเมื่อฝ่ายลาวยอมถอนกำลังกลับออกไปและเปิดโอกาสให้ฝ่ายเราเข้าไปกู้เรือกลับมาได้โดยไม่ทำการระดมยิงขัดขวางอีกต่อไป

ในวันที่ 30 พฤศจิกายน ทหารนาวิกโยธินได้ขึ้นไปบนดอนแตงในเวลากลางวันและปฏิบัติการกู้เรือกลับมาจากจุดที่เกยตื้นได้สำเร็จ

จากการตรวจสอบสภาพเรืออย่างละเอียดพบว่า เรือ ล-123 มีร่องรอยถูกกระสุนอาร์พีจี. 6 นัด กระสุนปืนรถถัง ปืนกลหนักและปืนเล็กเป็นจำนวนมาก

ป้อมปืนขนาด .50 แท่นคู่บริเวณหัวเรือถูกกระสุนปืนรถถังฉีกขาด ฐานเสาอากาศและเครื่องส่งเรดาร์ถูกกระสุนทะลุ 13 รูใช้การไม่ได้ เครื่องยนต์ขวาถูกกระสุนทะลุ ทำให้เสื้อสูบแตก ห้องแคร็งน้ำมันหล่อทะลุใช้การไม่ได้ เสาวิทยุ เสาธง ไฟฉายประจำเรือถูกยิงเสียหายใช้การไม่ได้

จนถึงทุกวันนี้แม้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับลาวจะอยู่ในลักษณะ “บ้านพี่เมืองน้อง’ โดยมีสะพานมิตรภาพไทย-ลาว เป็นเสมือนสัญญาลักษณ์แห่งไมตรี
อันแน่นแฟ้น

แต่เมื่อสายน้ำและลมหนาวของเดือนพฤศจิกายนเวียนมาถึง

เรื่องราวแห่ง “วีรกรรมดอนแตง’ ก็จะย้อนคืนกลับสู่ความทรงจำของเหล่าทหารเรือทั้งมวลและจะเป็นไปเช่นนี้… ชั่วนิรันดร์

 

ภาพเรือ นปข. ที่ตั้งแสดงอยู่ ณ พิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง อนุสรณ์สถานแห่งชาติ
ที่มา: http://pantip.com/topic/31185163

Leave a Reply