ฤาษีกินเหี้ย – โคธชาดก
กาลครั้งหนึ่ง ณ วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ขณะพระพุทธเจ้าทรงประทับอยู่นั้น ได้เอ่ยถึงภิกษุผู้หลอกลวงรูปหนึ่ง ได้นำอดีตนิทานเรื่องหนึ่งขึ้นมาสาธกให้ฟังว่า…
ครั้งหนึ่งมีฤาษีตนหนึ่งผู้ซึ่งบำเพ็ญตบะมาอย่างแกร่งกล้าจนชาวบ้านต่างพากันยกย่อง และด้วยแรงศรัทธาอันแรงกล้าชาวบ้านต่างได้ร่วมกันสร้างศาลาให้แก่ฤาษีผู้นี้ไว้ที่ชายป่าแห่งหนึ่ง ครั้งพระโพธิสัตว์ได้เสวยชาติเป็นเหี้ยตัวหนึ่งได้อาศัยอยู่แถวจอมปลวกใกล้กับพระฤาษี โดยในทุกวันเหี้ยตัวนี้จะเข้าไปกราบไหว้และฟังธรรมคำสั่งสอนจากพระฤาษีเป็นประจำวันละ 3 เวลา จากนั้นจึงกลับไปยังจอมปลวก
เมื่อถึงเวลาธุดงค์ต่อฝ่ายพระฤาษีจึงได้อำลาเหล่าชาวบ้านไป และหลังจากที่ฤาษีผู้ทรงธรรมได้จากไป ก็มีฤาษีตนใหม่ผ่านมาเห็นศาลาว่างอยู่จึงได้เข้าไปอาศัยแทน ฝ่ายเหี้ยเมื่อเห็นฤาษีองค์ใหม่ก็คิดว่าเป็นผู้บำเพ็ญตบะใฝ่ในธรรมเช่นเดียวกับฤาษีองค์ก่อนก็ยังคงมายังศาลาแห่งนี้เพื่อหวังจะได้ฟังธรรมจากพระฤาษีเช่นเคย
วันหนึ่งในฤดูแล้งได้มีฝนตกลงมาทำให้เหล่าแมลงเม่าต่างบินหนีกันออกมาจากจอมปลวก ส่วนฝูงเหี้ยก็ออกมาจับแมลงเม่าเหล่านี้กินเป็นอาหาร ฝ่ายชาวบ้านก็ได้จับเอาฝูงเหี้ยเหล่านี้มาทำเป็นอาหารแล้วนำไปถวายแก่พระฤาษี เมื่อพระฤาษีได้ลิ้มรสแล้วรู้สึกติดใจ ยิ่งเมื่อรู้ว่าที่ชาวบ้านปรุงเป็นอาหารมาให้ตนฉันนั้นเป็นตัวเหี้ยก็คิดขึ้นมาได้ว่าที่ศาลาตนทุกวันจะมีเหี้ยตัวหนึ่งมาหาตนทุกวัน จึงขอให้ชาวบ้านนำเครื่องปรุงต่างๆ มาให้แก่ตน
ช่วงเย็นของวันพระฤาษีได้นั่งคอยเหี้ยอยู่ในศาลาพร้อมค้อนที่ซ่อนไว้ใต้ชายผ้า สักพักเมื่อเหี้ยเดินทางมาถึงศาลาเห็นพระฤาษีทำท่าทางแปลกๆ จึงคิดในใจว่า “ทำไมวันนี้พระฤาษีถึงได้นั่งแปลกๆ นะ แถมยังมองเราไม่วางตา ไม่เหมือนทุกวันที่ผ่านมา” ขณะเหี้ยตัวนี้กำลังคิดอยู่นั้นก็ได้กลิ่นเนื้อเหี้ยโชยมาจากในศาลา จึงได้รู้ว่าที่แท้ฤาษีตนนี้ก็มีจิตใจหยาบช้าหวังจะกินตนเป็นอาหาร และคงกินเหี้ยตัวอื่นๆ มามากมายแล้วคงติดใจในรสชาติ วันนี้คงหวังจะให้ตนเป็นเหยื่ออันโอชะสำหรับมื้อเย็นนี้ เมื่อคิดได้ดังนั้นเหี้ยจึงได้รีบถอยกลับออกไป
ฝ่ายฤาษีเมื่อรู้ว่าเหี้ยรู้ตัวแล้วจึงรีบวิ่งตามไปแล้วขว้างค้อนที่ซ่อนอยู่ใต้ชายผ้านั้นไปยังเหี้ยตัวนั้นอย่างแรง แต่เดชะบุญของเหี้ยที่โดนเพียงหางเล็กน้อยเท่านั้น เหี้ยจึงรีบวิ่งด้วยความรวดเร็วเข้าไปอยู่ในจอมปลวกแล้วโผล่ศีรษะออกมากล่าวตำหนิพระฤาษีด้วยคาถาว่า
“นี่เจ้าผู้โง่เขลา จะมีประโยชน์อะไรแก่เจ้า ด้วยชฎาและการนุ่งห่มหนังเสือเหลืองภายในของเจ้าแสนจะรกรุงรัง เจ้าดีแต่ขัดสีภายนอกเท่านั้น”
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า อำนาจของความอยาก ทำให้คนลืมตัว