นักปฏิวัติแห่งกรุงศรี : กรมหมื่นเทพพิพิธ ไม่ชนะ ไม่ตาย ไม่เลิก

นักปฏิวัติแห่งกรุงศรี : กรมหมื่นเทพพิพิธ ไม่ชนะ ไม่ตาย ไม่เลิก


จิตรกรรมโครงประกอบภาพเรื่อง พระราชพงศาวดารแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระตอน “ช้างทรงพระมหาอุปราชแทงช้างพระที่นั่ง” แสดงเหตุการณ์เมื่อพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระเสด็จประพาสจับช้างป่าและพระมหาอุปราช (หรือพระอนุชาธิราช ต่อมาขึ้นสู่ราชบัลลังก์ในนาม พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระราชบิดาของกรมหมื่นเทพพิพิธ คิดกบฏไสช้างเข้าแทงช้างพระที่นั่ง (ภาพจากจิตรกรรมและประติมากรรมแบบตะวันตกในราชสำนัก เล่ม 2 จัดพิมพ์โดยสำนักพระราชวัง พ.ศ.2536)

ไทยเรามีสำนวนอยู่บทหนึ่งว่า “ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย” หมายถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นเหมือนอย่างที่เคยเกิดมาแล้ว ซึ่งคล้ายกับสำนวนฝรั่งที่ว่า “the only new thing is the history that you don′t know” เรื่องราวใหม่ก็คือประวัติศาสตร์ที่เราไม่รู้
ตอนเป็นเด็กๆ ฟังผู้ใหญ่พูดสองสำนวนนี้ก็คิดค้านอยู่ประจำ พอเป็นผู้ใหญ่เริ่มเห็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของบ้านเมืองหลายหนก็ยอมรับ และคล้อยตามว่าสำนวนนี้ “จริง” ขึ้นทุกวัน

มีบทความหนึ่งในนิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนกันยายน ชื่อว่า “เปิดชีวิต กรมหมื่นเทพพิพิธ นักการเมือง นักปฏิวัติ ตัวจริง ไม่ชนะ ไม่ตาย ไม่เลิก!” ของ ปรามินทร์ เครือทอง ที่สอดคล้องกับสำนวนข้างต้น
พฤติกรรมของผู้คน สถานการณ์ของบ้านเมือง วิธีคิด ฯลฯ ในอดีตกับปัจจุบันไม่อยากใช้คำว่า “คล้าย” แต่จะใช้ว่า “เหมือน” ก็เกรงใจ จุดที่แตกต่างกับวันนี้ก็มีแค่ “ชื่อบุคคล” เท่านั้น ที่เหลือเทียบเคียงกันได้หมด
เริ่มที่กรมหมื่นเทพพิพิธ เจ้านายที่มีใจเป็น “นักปฏิวัติ” ในสายเลือด พระองค์เป็นพระโอรสของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศที่ปฏิวัติยึดแผ่นดินมาจากเจ้าฟ้าอภัย (พระโอรสของพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ) พระโอรสหลายพระองค์ก็ทรงมีหัวใจนักปฏิวัติเช่นกัน

บรรยากาศบ้านเมืองขณะนั้น พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงลดบทบาทอำนาจเสนาบดีลง ด้วยประสบการณ์จากรัชกาลก่อนว่า สั่นคลอนเพราะขุนนางมีอำนาจมากเกิน พระองค์ทรง “ตั้งกรม” ให้พระราชโอรสมีอำนาจในการควบคุมกำลังพล

บ้านเมืองสงบสุขเพียง 3 ปี ก็เกิดการแย่งชิงอำนาจในราชสำนัก
เพราะพระโอรสต่างมีอำนาจและกำลังพลในมือ แต่ละพระองค์ต่าง “ปล่อยของประลองกำลัง” ของตนเอง แม้ไม่ได้แบ่งเป็นสีแดงสีเหลืองอย่างปัจจุบัน แต่ก็มีแบ่งขั้วเลือกข้างกันอย่างชัดเจน


(ซ้าย) ภาพวาดพระเจ้ากิตติศิริราชสิงห์ กษัติรย์ศรีลังกา เมื่อครั้งที่กรมหมื่นเทพิพิธถูกเนรเทศจากกรุงศรีอยุธยา (ถ่ายที่วัดบุปผาราม เมืองแคนดี้ ประเทศศรีลังกา) (ขวา) วัดบุปผาราม เมืองแคนดี้ ประเทศศรีลังกา ในปัจจุบัน สถานที่ที่ชาวสิงหลจะโค่นพระเจ้ากิตติศิริราชสิงห์แล้วถวายแผ่นดินให้กรมหมื่นเทพพิพิธแทน

หนึ่งคือกลุ่ม “สามเจ้าฟ้า” เป็นพระโอรสที่ประสูติจากพระพันวัสสาใหญ่ และพระพันวัสสาน้อย ได้แก่ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร (เจ้าฟ้ากุ้ง) กรมขุนเสนาพิทักษ์, เจ้าฟ้าเอกทัศ กรมขุนอนุรักษ์มนตรี, เจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ กรมขุนพรพินิต
หนึ่งคือกลุ่ม “เจ้าสามกรม” เป็นพระโอรสที่ประสูติจากพระสนม ได้แก่ พระองค์เจ้ามังคุด- กรมหมื่นจิตรสุนทร, พระองค์เจ้ารถ-กรมหมื่นสุนทรเทพ, พระองค์เจ้าปาน-กรมหมื่นเสพภักดี

ส่วนกรมหมื่นเทพพิพิธ (พระองค์เจ้าแขก) ซึ่งเป็นพระโอรสที่ประสูติจากพระสนม แต่กลับอยู่กับกลุ่มพระโอรสของพระพันวัสสาทั้งสองพระองค์

เริ่มจากเจ้าฟ้ากุ้งพระโอรสองค์โตทรงลอบทำร้ายเจ้าฟ้ากรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ (พระโอรสพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ-กษัตริย์แผ่นดินก่อน) ด้วยทรงระแวงว่าจะมาแย่งราชบัลลังก์ เพราะทรงเป็นหลานโปรดของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พอเจ้าฟ้ากุ้งได้รับการสถาปนาเป็น “วังหน้า” กรมหมื่นสุนทรเทพก็กราบบังคมทูลฟ้องข้อหา “เป็นชู้” กับเจ้าฟ้าสังวาลย์, เจ้าฟ้านิ่ม สุดท้ายเจ้าฟ้ากุ้งก็สิ้นพระชนม์เพราะทรงทนบาดเจ็บจากโทษโบยไม่ไหว

ตำแหน่งวังหน้าที่ว่างลงมี “ตัวเก็ง” คือ เจ้าฟ้าเอกทัศ กรมขุนอนุรักษ์มนตรี และเจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ กรมขุนพรพินิต พระราชโอรสในพระพันวัสสาน้อย แต่พระโอรสพระองค์อื่นต่างก็ประสงค์ในแผ่นดินเช่นกัน
กรมหมื่นเทพพิพิธร่วมกับขุนนางราชสำนัก “ชง” เจ้าฟ้าดอกมะเดื่อเป็นวังหน้าพระองค์ใหม่ ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศมีพระราชดำริเห็นชอบ เจ้าฟ้าเอกทัศทรงเป็น “พี่ชาย” ลาผนวช ส่วน “เจ้าสามกรม” ไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ
เมื่อพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเสด็จสวรรคตก็เกิดการจลาจลในวังหลวง


(บน) “เจ้าพิมาย หรือกรมหมื่นเทพพิพิธ แสดงความไม่ยอมอ่อนน้อม ถวายบังคมพระเจ้ากรุงธนบุรี ฉากจากละครเรื่องพระเจ้าตากสิน ออกอากาศทางไทยทีวีสีช่อง 3 พ.ศ.2550 (ล่าง) “ประหารชีวิตกรมหมื่นเทพพิพิธโดยการตัดหัว” ฉากจากละครเรื่องตากสินมหาราช อนึ่ง วาระสุดท้ายของชีวิตกรมหมื่นเทพพิพิธ พระราชพงศาวดารระบุว่า ทรงถูกสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์

กรมหมื่นเทพพิพิธ, เสนาบดี และเจ้าหน้าที่ในราชสำนักเตรียมการทูลเชิญเจ้าฟ้าดอกมะเดื่อขึ้นครองราชย์ คณะ “เจ้าสามกรม” แสดงท่าทีไม่ยอมรับพากันเสด็จเข้าไปในวัง เชิญเอาพระแสงบนพระที่นั่งบรรยงค์รัตนาสน์ไปไว้ที่กับฝ่ายตนเอง

เจ้าฟ้าดอกมะเดื่อทรงอาราธนาพระราชาคณะ ที่มาในงานพระบรมศพพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศไปเจรจาเกลี้ยกล่อม “เจ้าสามกรม” จึงยอมเข้าเฝ้าถวายสัตย์ต่อหน้าพระพักตร์พระองค์ แต่ยังซ่องสุมกำลังพร้อมโค่นบัลลังก์ ก่อนจะจบลงด้วยเจ้าฟ้าเอกทัศทรงวางแผนลวงเจ้าทั้งสามกรมนั้นให้มาเฝ้าแล้วสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์
ปัญหาคลี่คลาย บ้านเมืองน่าจะสงบ แต่ตอนจบกลับเจอเลี้ยวหักศอก

เจ้าฟ้าเอกทัศทรงแสดงทีท่าทวงคืนแผ่นดินอย่างชัดเจน เจ้าฟ้าดอกมะเดื่อก็ทรงยอมให้ “พี่ชาย” โดยออกผนวชเสีย กรมหมื่นเทพพิพิธที่ “เก็ง” ผิดก็ต้องหลบภัยไปอาศัยผ้าเหลืองเช่นกัน

ที่กล่าวว่า “จบ” มาหลายครั้งข้างต้น เป็นการจบเหตุหนึ่งเพื่อเกิดเหตุต่อมา เพราะมีบุคคล คณะบุคคลไม่ยอมจบ
เสนาบดีใกล้ชิดที่เจ้าฟ้าเอกทัศทรงแต่งตั้งแสดงอำนาจ เสนาบดีที่เคยสนับสนุนเจ้าฟ้าดอกมะเดื่อรู้สึกอึดอัดขัดข้อง จนในที่สุดก็เกิดคลื่นใต้น้ำ

ฝ่ายอำนาจเก่าหารือกับกรมหมื่นเทพพิพิธเพื่อช่วยกันทาบทามเจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ เพื่อล้มเจ้าฟ้าเอกทัศซึ่งพระองค์ทรงรับคำ แต่แท้จริงงานนี้ “ฟืนเปียก” จุดไม่ติด หนักกว่านั้นเจ้าฟ้าดอกมะเดื่อกลับซ้อนแผนด้วยการนำความไปทูลเจ้าฟ้าเอกทัศ งานนี้ฝ่ายอำนาจเก่า งานนี้จึง “จบเห่” กันทั้งหมด
กรมหมื่นเทพพิพิธถูกเนรเทศส่งไป “ศรีลังกา” โดยไม่แจ้งสาเหตุแก่ประเทศผู้รับปลายทาง
ศรีลังกาจึงให้การต้อนรับอย่างดี เพราะครั้งที่ศรีลังกาขาดพระสงฆ์ พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงให้การช่วยเหลือ จนเกิดพุทธศาสนาลัทธิสยามวงศ์ขึ้นที่นั้น
กรมหมื่นเทพพิพิธที่ทรงเป็นพุทธศาสนิกชนแต่กำเนิดเช่นเดียวกับคนศรีลังกา แต่กษัตริย์ศรีลังกาขณะนั้นทรงนับถือศาสนาฮินดูก่อนจะเปลี่ยนเป็นพุทธศาสนา และเป็นชาวทมิฬ ขณะที่ประชาชนเป็นชาวสิงหล
ขุนนางและประชาชนจึงไม่พอใจกษัตริย์ของตนเอง แต่กลับชื่นชมกรมหมื่นเทพพิพิธถึงขั้นเตรียมก่อการถวายแผ่นดินให้ แต่ข่าวที่รั่วออกไปทำให้กระทำการไม่สำเร็จ คณะผู้ก่อการถูกประหารชีวิต กรมหมื่นเทพพิพิธถูกส่งตัวกลับสยาม

สยามเวลานั้นพม่าเริ่มทำศึกประชิดพระนครเข้ามาเรื่อยๆ กรมหมื่นเทพพิพิธตั้งกองกำลังกู้ชาติรวบรวมไพล่พลที่นครนายก แต่ข่าวไปถึงหูพม่าเลยถูกตีแตก
กรมหมื่นเทพพิพิธหนีไปเมืองนครราชสีมา ฆ่าเจ้าเมืองแล้วนั่งเมืองแทน แต่หลวงแพ่งผู้เป็นน้องชายพระยานครศรีธรรมราชตามมาแก้แค้น ที่รอดมาได้เพราะพระพิมายขอชีวิตไว้ เพราะเห็นแก่ความเป็นเชื้อพระวงศ์
ภายหลังกรมหมื่นเทพพิพิธ “ทรยศ” วางแผนสังหารหลวงแพ่งยึดนครราชสีมาและพิมายตั้งตัวเป็น “เจ้าพิมาย” เสียเอง แต่เมื่อพระเจ้าตากสินทรงปราบหัวเมืองต่างๆ ทรงจับกุมเจ้าพิมายและประหารชีวิต

แม้จะเป็นเรื่องประวัติศาสตร์ แต่เวลาอ่านจะเห็นปัจจุบัน และเข้าใจว่าที่ต้องเห็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอย เพราะคนเป็นคนสร้างมันขึ้นมา ซึ่งแรงผลักของคนก็มีอยู่ไม่กี่อย่าง ผู้หญิง (ผู้ชาย), อำนาจชื่อเสียง, เงินทอง ไม่ข้อใดก็ข้อหนึ่ง หรือไม่ก็ทั้งหมด

ที่มา : มติชนรายวัน ฉบับวันพุธที่ 11 กันยายน 2556

Leave a Reply