9 เรื่องน่ารู้ของการจาม

9 เรื่องน่ารู้ของการจาม

sneezeq

1. อัตราความเร็วของการจามวัดได้สูงสุดกว่า 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง !

                 โอ้โฮ ไม่น่าเชื่อเลยเนอะ ว่าฮัดชิ้วเดียวของเรา จะมีอัตราความเร็วพุ่งแรงไม่ต่างจากเครื่องยนต์ดี ๆ สักชิ้นเลย และถึงแม้การจามเบา ๆ ที่แทบไม่ได้ยินเสียง เมื่อตรวจวัดแล้ว ก็ยังมีความเร็วเกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมงอยู่ดี แรงไม่เบาเลย

 

2. เชื้อโรคจากการจามสามารถแพร่กระจายได้ไกลถึง 9 เมตร

               เคยมีคนคาดคะเนว่า การจามในแต่ละครั้งของเราจะแพร่กระจายเชื้อโรคได้ภายในรัศมี 1.5 เมตร แต่ถ้าจามแบบแรงสุด ๆ เชื้อโรคก็จะสามารถกระจายตัวได้ไกลเกินกว่า 9 เมตรทีเดียว เรียกได้ว่า รัศมีกว้างขนาดนี้เชื้อโรคก็น่าจะทั่วถึงเลยล่ะ ฉะนั้นรู้ตัวว่าจะจามเมื่อไร ก็อย่าลืมปิดปากให้สนิทกันด้วย

3. เราจามเพื่อฟื้นฟูการทำงานของจมูก
ทั้ง ๆ ที่ไม่มีอาการหวัด แต่บ่อยครั้งเราก็จามโดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งเหตุผลนี้ก็สามารถอธิบายทางการแพทย์ได้ว่า จมูกของเราก็คล้ายกับการทำงานของคอมพิวเตอร์ ที่เมื่อเกิดระบบขัดข้อง ก็ต้องรีสตาร์ทเครื่องใหม่เพื่อล้างความขัดข้องนั้นออกไป
เช่นเดียวกันกับจมูก เมื่อร่างกายสูดเอาฝุ่น หรือสิ่งแปลกปลอมเข้าไป อาการจามก็จะเกิดขึ้น เพื่อกำจัดสิ่งแปลกปลอมออกไป แต่อีกนัยหนึ่งก็คือ การจามก็เหมือนเป็นสัญญาณเตือนให้เรารู้ว่า ณ ขณะนี้ เราอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัยต่อระบบทางเดินหายใจเท่าไรนัก
ด้วยเหตุนี้หลังการจามทุกครั้ง เราจึงสังเกตได้ว่า จะหายใจไม่ค่อยสะดวก หรือมีอาการคัดจมูกนิดหน่อย ซึ่งนั่นก็เป็นปฏิกิริยาที่ร่างกายสร้างขึ้นเพื่อป้องกันการสูดเอาฝุ่น และสิ่งแปลกปลอมเข้าไป โดยมีเซลล์ขน (cilia) คอยจับความผิดปกนั้นไว้นั่นเอง

4. แสงแดดจ้า ๆ ตัวการทำให้จามได้เหมือนกัน
โดยปกติเรารู้กันดีอยู่แล้วเกี่ยวกับตัวกระตุ้นให้เกิดอาการจาม เช่น ฝุ่น กลิ่นฉุนของอาหาร หรือถูกกระตุ้นด้วยอาการป่วย เป็นต้น ซึ่งหลายคนอาจเคยนึกสงสัยบ้างเหมือนกันใช่ไหมว่า แม้จะไม่มีตัวกระตุ้นที่ว่ามานี่เลย แต่พอเจอเข้ากับแสงแดดจ้า ๆ เรากลับจามออกมาซะดังลั่น ดีไม่ดีก็จามติดกันเป็นเซตใหญ่เลยด้วยล่ะ
และคำตอบของสาเหตุนี้ก็มีนักประสาทวิทยาออกมาให้ความรู้ไว้ว่า จริง ๆ แล้วยังไม่มีการพิสูจน์ที่แน่ชัดเกี่ยวกับเรื่องแสงแดดจ้า ๆ ที่ทำให้คนจามออกมา แต่ก็มีการคาดเดาอย่างแพร่หลายถึงปฏิกิริยาที่เรียกว่า Photic Sneeze Reflex หรือปฏิกิริยาของร่างกายเมื่อได้เจอแสงแดด สมองจะส่งสัญญาณไปกระทบกับเส้นประสาทในจมูก ทำให้เราจามในที่สุด
โดยการทดลองก็พบว่า อาสาสมัคร 1 ใน 4 คนจะมีอาการจามมื่อต้องออกแดดแรง ๆ เป็นประจำ ซึ่งก็นับว่าเป็นผลดีกับคนที่รู้สึกอยากจาม แต่กลับจามไม่ออก แต่สำหรับคนที่ไม่อยากจามเมื่อต้องออกแดด ก็คงต้องใส่แว่นตากันแดด เพื่อยับยั้งอาการจามแล้วล่ะ

5. จาม 3 ครั้งติดกัน เป็นเรื่องปกติ
ในขณะที่ร่างกายมีสิ่งรบกวนผ่านเข้าไปทางจมูก ก็ไม่น่าแปลกที่จะเกิดปฏิกิริยาต่อต้านด้วยการจามดัง ๆ ออกมาติดกัน 2-3 ครั้ง เพื่อกำจัดสิ่งรบกวนออกไปให้หมดสิ้น ดังนั้นใครที่จามไม่หยุดสักที ก็อย่าเพิ่งตกใจว่าร่างกายมีอาการผิดปกตินะคะ และทางที่ดีก็ย้ายจากพื้นที่เสี่ยง ไปยังพื้นที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์เร็ว ๆ ดีกว่า

6. เราไม่สามารถลืมตาได้ในขณะที่จาม
ไม่รู้ว่ามีใครเคยสังเกตหรือเปล่าว่า ในขณะที่เราจามทุกครั้ง เราจะหลับตาโดยไม่ได้ตั้งใจทุกที ซึ่งนั่นก็เป็นผลพวงจากอาการตอบสนองโดยอัตโนมัติของร่างกาย เหมือนกับเวลาที่คุณหมอเอาค้อนเล็ก ๆ มาเคาะบริเวณหัวเข่าเรานั่นล่ะค่ะ และแม้วาจะมีคนพยายามฝืนปฏิกิริยานี้อย่างจริงจังแค่ไหน ก็ไม่มีใครเคยทำสำเร็จสักทีเลยด้วย

7. หัวใจยังคงเต้นอย่างปกติเมื่อเราจาม
ถ้าหากคุณกำลังสงสัยว่า ระหว่างที่เราจาม หัวใจเราจะหยุดเต้นไปด้วยหรือเปล่า ก็ขอบอกตรงนี้เลยว่า นอกจากการสูดหายใจเข้าลึก ๆ และเส้นประสาทส่วนใหญ่ในร่างกายจะตื่นตัวก่อนการจามแล้ว ร่างกายส่วนอื่น ๆ ก็ยังคงทำงานตามปกติ แม้แต่อัตราการเต้นของหัวใจก็ไม่เปลี่ยนแปลงสักนิดเลย

8. กลั้นจามไม่ใช่เรื่องที่ดี
อาการจามสามารถแยกได้เป็น 2 ประเภท คือ จามแบบทันทีทันใด กับรู้สึกอยากจาม แต่จามไม่ออก ซึ่งอย่างหลังก็ทำให้เรารู้สึกอัดอัดน่าดู แต่ส่วนมากเมื่อจามไม่ออก เราก็มักจะกลั้นจามเอาไว้ แล้วปล่อยให้ร่างกายลืม ๆ มันไปในที่สุด ซึ่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก็บอกว่า พฤติกรรมแบบนี้ไม่ส่งผลดีต่อสุขภาพอย่างแรง เพราะนอกจากจะเป็นสาเหตุเล็ก ๆ ของอาการเส้นเลือดในตาเปราะขาด หรือแตก แก้วหูฉีกขาด และเสี่ยงมีความผิดปกติเกี่ยวกับกระบังลมแล้ว การกลั้นจามยังเป็นการเปิดโอกาสให้เชื้อโรคสะสมอยู่ในร่างกายเราอีกด้วย

9. แต่คุณสามารถระงับอาการจามได้ด้วยนะ
แม้ว่าการกลั้นจามจะส่งผลเสียกับร่างกายมากกว่าผลดี แต่บางครั้งเราก็ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถจามออกมาได้จริง ๆ ซึ่งคุณสามารถระงับอาการจามด้วยตัวเองได้โดยถูจมูกแรง ๆ เม้มปากและสูดลมหายใจเข้าลึก ๆ เอาล่ะ ! ชอบวิธีไหนก็ลองนำวิธีไปทำกันดู

ที่มา: Huffington Post , Kapook.com

Leave a Reply